รีเซต

จุฬาฯ เปิด "คลับจุฬาฯ สปินออฟ" เมื่องานวิจัยบนหิ้งกลายเป็นนวัตกรรมกู้เศรษฐกิจไทย!

จุฬาฯ เปิด "คลับจุฬาฯ สปินออฟ" เมื่องานวิจัยบนหิ้งกลายเป็นนวัตกรรมกู้เศรษฐกิจไทย!
TNN ช่อง16
29 พฤศจิกายน 2564 ( 20:40 )
152

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด “คลับจุฬาฯ สปินออฟ” (Club Chula Spin-off) ปั้น 50 บริษัท ‘Deep Tech Startups’ พัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

ซึ่ง “คลับจุฬาฯ สปินออฟ” จะเป็นเหมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนางานวิจัยให้กลายเป็นนวัตกรรมที่เป็นเสมือน “เครื่องยนต์ใหม่” หรือ New Growth ที่จะมาขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เราสปินออฟ...เพื่อชาติ” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมจุฬาฯ รองรับเศรษฐกิจไทยหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ถึงโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทยตอนนี้ คือการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง 2 ปีนี้ โดยมองว่าไทยต้องมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศชั้นนำของโลก 


จุฬาฯ จึงช่วยแก้โจทย์นี้ โดยส่งกลุ่ม Deep Tech Startups นำผลงานนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยจุฬา ฯ จัดตั้งบริษัท “สปินออฟ” สนองนโยบาย University Holding Company ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกัน  โควิดจุฬาฯ-ใบยา เป็นหัวจักรนำขบวนสปินออฟ 


ซึ่งขณะนี้จุฬาฯ พร้อมสปินออฟมากกว่า 50 บริษัท อาทิ Haxter Robotics หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย, MINEED นวัตกรรมนำส่งยาที่ละลายและซึมผ่านผิวหนัง, Nabsolute สเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้า, Tann D Innofood เส้นโปรตีนไข่ขาว, Herb Guardian นวัตกรรมฉีดพ่นลดฝุ่นละออง PM2.5 คิดมูลค่าตลาดรวมแล้วกว่า 1.67 หมื่นล้านบาท 


นอกจากนี้ยังตั้งเป้าให้มูลค่าตลาดของทั้งสตาร์ทอัพและสปินออฟจุฬาฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนแตะ 5 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปี ซึ่งจะเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่เราจะได้เห็นอาจารย์และนักวิจัยจุฬาฯ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็ได้กล่าวถึงการสนับสนุนวงการวิจัยและนวัตกรรมไทยเช่นกัน โดยระบุว่ากระทรวง อว. สนับสนุนให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมผลักดันในทุกเรื่อง 


ที่น่าสนใจคือได้มีการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งสนับสนุนให้ผู้รับทุน หรือนักวิจัย สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุน นับเป็นก้าวสำคัญของการปลดล็อคอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนางานวิจัย ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง

จับตาดูความเคลื่อนไหวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของกระทรวง อว. ที่ออกตัวเร็ว เปิด “คลับจุฬาฯ สปินออฟ” สร้างระบบนิเวศใหม่ในหมู่นักวิจัยให้หันหน้าเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมแชร์ประสบการณ์การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและนำให้อาเซียนเติบโตในระยะยาวกันต่อไป


ภาพและข้อมูลจาก งานเปิด "Club Chula Spin-Off"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง