สรุปดรามา “ครูกายแก้ว” ชาวเน็ตเสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ควรบูชาหรือไม่?

เป็นกระแสที่ใครหลายคนกำลังพูดถึงอยู่ในขณะนี้ หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว มีการบวงสรวงเบิกเนตร “ครูกายแก้ว” โดยมีผู้ศรัทธาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก ระหว่างพิธีได้เกิดฝนฟ้าคะนองลมแรง ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเหตุอาเพศหรือไม่ และ เกิดดรามาถกเถียงถึงที่มาของ “ครูกายแก้ว” ว่าจริงๆแล้วเป็นใครควรกราบไหว้บูชาหรือไม่
เนื่องจากลักษณะรูปเคารพของครูกายแก้วนั้นดูเหมือนไม่ใช่เทพ ลักษณะเหมือนอสูรเสียมากกว่า จนเกิดการถกเถียงบนโลกโซเชียล ซึ่งแฮชแท็ก #ครูกายแก้ว ติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์อยู่ในขณะนี้ เรามาดูกันว่าจุดเริ่มต้นของ “ดรามาครูกายแก้ว” นั้นเริ่มมาจากจุดไหนกัน จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้
- เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา เกิดเหตถรถกระบะคันหนึ่งบรรทุกรูปปั้นหล่อขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถผ่านสะพานลอยไปได้ โดยจุดเกิดเหตุ เกิดขึ้นบน ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ก่อนถึงรัชดาภิเษก 36 ทำให้จราจรติดขัดท้ายแถวสะสมต่อเนื่องสะพานพระราม 7 โดยรูปปั้นนี้เป็น เป็นคนกึ่งนก มีปีก เล็บยาวสีแดงและเขี้ยวสีทอง จากการหาข้อมูลพบว่ารูปปั้นนั้นคือ "ครูกายแก้ว"
- ด้านชาวเน็ตที่ได้เห็นข่าวดังกล่าวต่างสงสัยว่า "ครูกายแก้ว" นั้นคือใคร เพราะไม่เคยเห็นหรือได้ยินชื่อว่าก่อน จนเกิดการสืบค้น และ มีการแชร์ข้อมูลกันว่า ครูกายแก้ว เป็นผู้ที่มีวิชาตบะแก่กล้าเมื่อพันปีก่อน มีวิชาอาคมเวทย์มนต์ที่เรืองเวทย์มากท่านหนึ่งในยุคนั้น มีผู้สืบต่อวิชาของท่านมาเรื่อย ๆ
จนเมื่อมาถึงครั้งหนึ่งมีพระองค์หนึ่งได้เดินทางไปธุดงค์ไปปฏิบัติธรรม ทำสมาธิที่ปราสาทนครวัดนครธม ประเทศกัมพูชา ได้มาเรียนวิชาอาคมของครูกายแก้วสืบต่อ เมื่อได้เดินทางกลับมาพระองค์นั้นได้นำองค์จำลองของครูกายแก้วกลับมาด้วยโดยมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง
เมื่อมาถึงที่ลำปางพระธุดงค์องค์นั้น ได้มอบครูกายแก้วให้กับลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อ จ่าสิบเอกถวิล มิลินทจินดา ที่ใคร ๆ ก็เรียกว่าพ่อหวิน ซึ่งองค์จำลองของครูกายแก้วดั้งเดิมจะเป็นเพียงองค์เล็ก ๆ มีขนาดหน้าตักเพียง 2 นิ้ว เป็นท่านั่งยอง ๆ กอดเข่า ที่อยู่ในลักษณะมือสองข้างจับเข่า ซึ่งหลังจากนั้นพ่อหวิน ได้มอบครูกายแก้วให้กับอาจารย์สุชาติ รัตนสุข
ในครั้งแรกที่อาจารย์สุชาติได้รับมอบครูกายแก้วมานั้น องค์ครูมีขนาดเล็ก เป็นลักษณะคนนั่งหน้าตักเพียง 2 นิ้วเท่านั้น และต่อมาครูกายแก้วก็ปรากฎกายให้อาจารย์สุชาติได้เห็น ในตอนนั้นเองอาจารย์สุชาติก็ได้ทำการวาดภาพของ ครูกายแก้ว ในจินตนาการ และทำการหล่อรูปองค์ครูขึ้นเป็นครั้งแรก มีลักษณะเป็นองค์ยืน คล้ายคนแก่ นำไปไว้ที่สำนัก จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการบูชาครูนั่นเอง
- จนกระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม ได้มีพิธีเปิดฤกษ์พิธีบวงสรวงเบิกเนตร “ครูกายแก้ว” พร้อมกับมีพิธีบวงสรวงใหญ่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว โดยมีประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก จนทำให้รถติดยาวเหยียด อีกทั้งขณะที่ทำพิธีนั้นเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักพร้อมกับลมกร ะโชกแรง ทำให้สายมูบางรายมองว่าการเกิดเหตุการณ์นี้ใช่การเกิดอาเพศหรือไม่ และ ในโลกโซเชียลมีการสืบค้นข้อมูลของ ครูกายแก้ว นั้นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรกราบไหว้บูชาหรือไม่ เนื่องจากภาพลักษณ์เหมือนอสูรมากกว่าเป็นเทพที่ใครหลายคนควรกราบไหว้
- ครูกายแก้ว มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายบนโลกโซเชียล มีการขุดคุ้ยว่า พุทธคุณของ “ครูกายแก้ว” ไม่ใช่สายขาว แต่เป็นสายดำจากเขมร และ คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าเป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ แต่หลักฐานระบุชัด ไม่มีอาจารย์ที่ชื่อว่ากายแก้ว และ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือในพระพุทธศาสนาไม่ได้นับถือไสยศาสตร์
- ชาวเน็ตบางส่วนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยเป็นเมืองของพระพุทธศาสนา ซึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้กราบไหว้บูชาไสยศาสตร์ บางรายก็ระบุว่าลักษณะครูกายแก้ว เหมือนตัวกากอยด์ของฝรั่งมากกว่า ในขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนระบุว่า ครูกายแก้ว นั้นมีมานานแล้วตนเองก็กราบไหว้บูชามาแล้ว 3 ปีไม่ได้มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นเพิ่งจะมาดังเป็นข่าวเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และ ต่างประเทศนิยมกราบไหว้บูชากันมานานแล้วในหมู่นักธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีคอมเม้นต์ระบุว่าอาจจะเป็นแผนการตลาดของวัตถุมงคล ซึ่งแต่ก่อนก็มีให้เห็นมาแล้วสำหรับจาตุคามรามเทพ หรือ ก่อนหน้านั้นคนก็ฮิตบูชาท้าวเวสสุวรรณ ครูกายแก้ว อาจเป็นปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกัน
- ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับปรากฏการณ์ ผู้คนแห่แหนกันไปบูชา ครูกายแก้ว โดยระบุข้อความว่า “ไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ปรากฏข่าวเรื่อง ครูกายแก้ว ว่าเป็นรูปเคารพที่ได้รับความนับถือในหมู่คนจำนวนหนึ่ง นัยว่าครูกายแก้วนี้เป็นครูบาอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด
ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐานยืนยันได้แน่นอนว่าเล่าลือกันมาจากที่ไหน ความเลื่อมใสในเรื่องอย่างนี้แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง และถ้าไม่เกรงใจกันแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นระดับที่สูงมากเสียด้วย
รูปอะไรก็ไม่รู้ที่กราบไหว้กันอยู่นี้ มองในทางศิลปะก็สอบไม่ผ่านแน่ จะว่าเป็นมนุษย์ก็เห็นจะไม่ใช่ จะเป็นสัตว์ก็ไม่เชิง ผมยังนึกไม่ออกว่าการไปบูชารูปปั้นอย่างนี้จะเป็นสวัสดิมงคลได้อย่างไร แถมเกรงว่าจะเกิดผลตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ ”
ด้านหมอบี ทูตสื่อวิญญาณ ได้พูดถึงกรณีครูกายแก้ว เช่นกันโดยให้ความเห็นว่า “ใครจะเชื่อก็แล้วแต่ ตนไม่มีหน้าที่ไปขัดความเชื่อใคร แต่ว่าอยากให้ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน การที่เราจะไหว้ใครสักคน น้อมตัวลงไปไหว้สิ่งที่อยู่สูงกว่าเรา อย่างเช่นไหว้พระพุทธรูป ตนไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะไหว้ เรากราบได้อย่างเต็มที่”
ข้อมูลจาก : Tongthong Chandransu / @thritpa168
ภาพจาก : Tongthong Chandransu / @thritpa168