รีเซต

เปิดผลการตัดสิน 10 ผลงานเด่นการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก”

เปิดผลการตัดสิน 10 ผลงานเด่นการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก”
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2566 ( 20:55 )
72
เปิดผลการตัดสิน 10 ผลงานเด่นการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก”

วันนี้ (20 ส.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ซึ่งพระองค์ได้ทรงอรรถาธิบายว่า คือ "ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส" ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ถึงพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยะอุตสาหะ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยทรงมีความมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการรับพระราชภาระในด้านการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งภาพชินตาที่ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณมิรู้ลืม คือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานในงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ได้พระราชทาน ผ้าลายพระราชทาน "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" แก่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 พร้อมทั้งทรงมีพระดำรัสความว่า "ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า สมเด็จพระพันปีหลวง มาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงานและรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่านในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษาเดินทางไปชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภาคต่าง ๆ  ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้ จากการค้นคว้า เก็บข้อมูล ลงพื้นที่จริง ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบลายผ้ามัดหมี่มอบให้ช่างทอผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลายให้มีความหมายถึง การส่งมอบความรัก ความสุข ให้ชาวไทยทุกคน เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลายผ้าออกแบบให้ร่วมสมัย ใช้ได้จริง ในหลายโอกาส" 



"ด้วยพระปรีชาชาญที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดลวดลายผ้าไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น พระองค์ได้พระราชทานลายผ้าพระราชทานเพิ่มเติมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาลวดลายผ้าให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการทั่วประเทศ ได้แก่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ทรงพระกรุณาพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย คือ ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” “ป่าแดนใต้” และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม พระราชทานลายผ้าพระราชทาน "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และล่าสุด เมื่อครั้งเสด็จทรงงานที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ได้พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เพื่อเชิญไปมอบให้กับผู้ประกอบการผ้า ช่างทอผ้า ใช้ในการประยุกต์เข้ากับผลงานผืนผ้าทุกประเภททั่วประเทศ นับเป็นพระกรุณาธิคุณแก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทยทั่วประเทศ ซึ่งผลจากการทรงส่งเสริมและต่อยอดทักษะฝีมือของช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้าไทย ตลอดห้วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พี่น้องผู้ประกอบการ และช่างทอผ้าในทุกถิ่นที่ชนบทห่างไกล ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถลืมตาอ้าปาก มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง มีเงินมีทองให้ลูกหลานได้ร่ำเรียนหนังสือ ให้ครอบครัวได้มีกินมีใช้ และที่สำคัญ ทุกคนที่ได้น้อมนำพระดำริ "Sustainable Fashion" ต่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพวกเขารู้จักการพึ่งพาตนเอง การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย ปลูกต้นไม้ให้สี ทำให้สามารถผลิตวัตถุดิบได้ด้วยตนเอง และย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ยกย่องในพระปรีชาชาญดังกล่าว ว่า พระองค์ทำให้ช่างทอผ้าทั่วประเทศไทยได้ประกอบอาชีพที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระดำริอันทรงคุณค่า สร้างคุณประโยชน์นานัปการอย่างหาที่สุดมิได้ จนทำให้ช่างทอผ้าได้มีการพัฒนาทักษะฝีมือ มีแนวทางการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง เกิดผลงานผ้าไทยแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก จึงเป็นที่มาของการน้อมนำแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" มาขับเคลื่อนขยายผล ภายใต้ชื่อ "โครงการส่งเสริมการออกแบบตัดเย็บผ้าไทย ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”" โดยการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” จากกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย ตลอดจนนักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทยจากทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางด้านการตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย รวมทั้งเป็นการสร้างการรับรู้การส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย นักออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไทย และประชาชนทั่วไป สมัครเข้าร่วมประกวด รวมจำนวนทั้งสิ้น 270 ทีม




"ในวันนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคเหนือ ที่ห้องยี่เป็งแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้ทำการคัดเลือกผลงานจากผู้เข้าประกวด จำนวน 59 ทีม ในรอบคัดเลือก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เข้ารอบมาสู่การประกวดระดับภาคในวันนี้ จำนวน 20 ทีม ซึ่งในวันนี้คณะกรรมการตัดสิน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 



นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และประธานแม่บ้านมหาดไทย 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงใหม่ นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย รองศาสตราจารย์ ดร. สุพรรณี ฉายะบุตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำปาง นางศุภกาญจน์ โรจนโสทร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพะเยา นางวรรณฤดี กิจเจริญรุ่งโรจน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดตาก ได้ร่วมกันตัดสินคัดเลือก 10 ผลงานโดดเด่นที่มีความเป็นเลิศ เข้าสู่การประกวดระดับประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 


ซึ่งขณะนี้ผลการตัดสินได้เสร็จสิ้นแล้ว มีผู้เข้าประกวด 10 ราย/ทีม ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ดังนี้ 


1. นายแมกกราวดี แสงวิชัย กลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าไทยร่วมสมัย จังหวัดพะเยา  

2. นายไอยรินทร์ รุ่นหนุ่ม จังหวัดลำพูน 

3. นางอังศุมาลิน บุญทา กลุ่มพิทักษ์ชุมชนอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา 

4. นายโสรัจ เขียวแก่น กลุ่มศรีมาลาแพร จังหวัดแพร่ 

5. นางสาวนุสรา ทวีทรัพย์ล้ำเลิศ จังหวัดตาก 

6. นางแพว เนตรทิพย์ จังหวัดน่าน 

7. นางสาวอรุโณทัย อินรัง กลุ่มฝ้ายเงินฝ้ายทอง จังหวัดน่าน 

8. นางสาวจริยา แซ่เฮ่อ กลุ่ม Riya จังหวัดลำปาง 

9. นายปรรณกร แก้วรากมุข จังหวัดเชียงราย 

และ 10. นางสาวผกาวดี แก้วชมภู จังหวัดเชียงใหม่" 


นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า กระทรวงมหาดไทยขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้ารอบการประกวดการออกแบบตัดเย็บ “ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก” ระดับภาคเหนือ และขอให้ได้ย้ำกับตนเองเสมอว่า การประกวดในวันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น ของการรังสรรค์ของการออกแบบตัดเย็บผืนผ้าไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องกับแฟชั่นสมัยนิยม ซึ่งจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ ต้องหมั่นฝึกซ้อมเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประกวดในระดับประเทศ นอกจากนี้สำหรับผู้เข้าประกวดที่ไม่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ ขอให้ได้อย่าท้อใจ แต่จงนำข้อเสนอแนะ ความคิดเห็นของคณะกรรมการตัดสินทุกท่านไปเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการตัดเย็บผืนผ้าไทยเพื่อให้ได้ผลงานที่สอดคล้องตามความต้องการของตลาด มีความสวยงาม และคนทุกช่วงวัยสามารถใส่ได้ในทุกโอกาส ทุกที่ เพราะทุกชิ้นงานที่ทุกท่านได้รังสรรค์ขึ้นนั้น ต่างเป็นสุดยอดผลงานที่เกิดจากความตั้งอกตั้งใจ จึงขอให้ได้เพียงพยายามในการพัฒนาฝีไม้ลายมือ เพื่อที่จะทำให้ผ้าไทยทุกผืน ได้รับการตัดเย็บที่สร้างมูลค่าเพิ่ม อันจะยังผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง