รีเซต

กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ดันการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

กนง. มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ย 0.50% ดันการขยายตัวเศรษฐกิจไทย
มติชน
10 พฤศจิกายน 2564 ( 14:57 )
56

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศ รวมทั้งการเร่งกระจายวัคซีนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลง แต่แนวโน้มการฟื้นตัวยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอน

 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานโลกเป็นหลัก คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ประกอบกับมาตรการทางการเงินการคลังที่มีความต่อเนื่อง เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้รายได้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากการใช้จ่ายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากราคาพลังงานโลกที่สูงขึ้น ในระยะต่อไป แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐจะแผ่วลงหลังจากที่ได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงบ้างตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวตามปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลงในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่มีความเสี่ยงด้านสูงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้และข้อจำกัดด้านอุปทานในต่างประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี รายได้และกำลังซื้อที่ทยอยฟื้นตัวส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอน โดยยังต้องติดตามพัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ และความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อการกระจายตัวของสินเชื่อ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคครัวเรือน ซึ่งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้บางส่วน ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลัก สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอน คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เห็นควรให้ผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะหลังการเปิดประเทศ มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง

 

สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน 2564) ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการระบาดหลังการเปิดประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลก โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง