รีเซต

ภัยแล้ง 2567 'มท.1' กำชับทุกจังหวัดเตรียมแผนรองรับ ป้องกันขาดแคลนน้ำ

ภัยแล้ง 2567 'มท.1' กำชับทุกจังหวัดเตรียมแผนรองรับ ป้องกันขาดแคลนน้ำ
TNN ช่อง16
11 ธันวาคม 2566 ( 14:39 )
84

มท.1 กำชับทุกจังหวัด เตรียมแผนรองรับ "ภัยแล้ง" ยาวถึงเดือนเมษายน 2567 ป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างทันต่อสถานการณ์


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมาประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งอันอาจกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาผลกระทบข้างต้นกระทรวงมหาดไทยได้ติดตามข้อมูลสภาพอากาศใกล้ชิด ให้ความสำคัญกับการประสานทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานกระทรวงฯ ทั้งฝ่ายปกครอง และราชการส่วนท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนในการขับเคลื่อนแผนการรับมือและแก้ไขปัญหาในทุกระดับ


ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้รับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการมอบหมายหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามมาตรการที่อย่างเร่งด่วนต่อไป


"ท่าน มท.1 ติดตามและรับทราบรายงานว่า สถานการณ์สภาพอากาศตอนนี้มีความเสี่ยงว่าฤดูแล้งซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมาไปจนถึงเม.ย.ปีหน้า จะเกิดการขาดแคลนน้ำจนกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ท่านจึงกำชับทั้งจังหวัด และท้องถิ่นให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ มีการเตรียมแผนงานที่สอดคล้องกับมาตรการรองรับฤดูแล้งฯ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฯ เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างทันต่อสถานการณ์ต่อไป" น.ส.ไตรศุลี กล่าว


น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการบูรณาการการทำงานต่อไป ประกอบด้วยแผนงาน 3 ด้านได้แก่ ด้านน้ำต้นทุน (supply) ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand) และ ด้านการบริหารจัดการ (Management) รวม 9 มาตรการ เช่น การเฝ้าระวังและเตรียมการจัดการแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังการขาดน้ำ 


ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูก บริการจัดการให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด สร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดและลดการสูญเสียน้ำ


ทางด้านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ มีแผนงานที่เกี่ยวข้องหลายด้าน อาทิ การซ่อมและปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเพิ่มน้ำต้นทุนเพื่อรองรับภัยแล้ง และการเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร






ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง