รีเซต

DPAยอดเงินฝากปี68โต3% พัฒนาไอทีรองรับธ.ไร้สาขา

DPAยอดเงินฝากปี68โต3% พัฒนาไอทีรองรับธ.ไร้สาขา
ทันหุ้น
31 มีนาคม 2568 ( 23:53 )
17

#DPA #ทันหุ้น - DPA ประเมินแนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568อยู่ที่ 16.65 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 1-3%สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ โดยในปี 2567กลุ่มผู้ฝากที่เงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 4.84%เป็นผลมาจากโครงการเงินช่วยเหลือภาครัฐ ในส่วนการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากคาดหวังผลตอบแทนไว้ที่ 2.20%พร้อมชูแนวคิด READY & Prompt เพื่อมุ่งสู่การเงินดิจิทัล รองรับการจัดตั้ง Virtual Bank


ดร.มหัทธนะ  อัมพรพิสิฏร์  ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA หน่วยงานในตาข่ายความมั่นคงทางการเงิน เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 16.65 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 1-3%สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบที่ไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอกประเทศ


@ฝากเงินน้อยกว่า 5 หมื่นบ. เพิ่มขึ้น

โดยสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2567 รวมกว่า 99.25ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.50 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโต 4.75%และมีจำนวนเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.22 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 1.40%


ซึ่งพบว่าอัตราการเติบโตของเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากที่เงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึง 4.84%ทั้งนี้ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในผู้ฝากกลุ่มนี้มีผลมาจากโครงการเงินช่วยเหลือภาครัฐทำให้อัตราเงินฝากในเดือนกันยายน 2567 พุ่งขึ้นถึง 6.83%สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3ปีในช่วงเดือนเดียวกันที่ 2.50%


ขณะที่ผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรองลงมาอยู่ที่ 2.70%ซึ่งคาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการนำเงินมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากกลุ่มนี้ยังคงเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2566


@หวังผลตอบแทน 2.20%

ในส่วนการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีการเติบโต มั่นคง และปลอดภัย ปัจจุบันมูลค่าเงินกองทุน อยู่ที่ 146,466.49ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2568) มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมั่นคงสูง 100% ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล, ตั๋วเงินคลัง, เงินฝาก/ตราสารหนี้ ธปท. รวมถึงเงินฝาก SFI, ตราสารหนี้ที่ กระทรวงการคลัง ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย


ซึ่งมีเป้าหมายรายได้ปี 2568 หวังอัตราผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 2.20%เพิ่มขึ้นจากที่ 2567 ที่ทำได้ 2.17%ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปี (นับตั้งแต่ปี 2563-2567) โดยส่วนใหญ่จะเติบโตจากเงินฝาก SFI ซึ่งให้ดอกเบี้ยมากกว่า 2%รวมถึงยังมีการลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในพันธบัตรรัฐบาลไทย


@พร้อมรับ Virtual Bank

ทั้งนี้พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองเงินฝากภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ตั้งแต่ปี 2566-2570) ผ่านแนวคิด READY & Prompt ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินในยุคดิจิทัล รวมถึงให้ความสำคัญกับผู้ฝากเป็นศูนย์กลาง (Deposttor-Centric) ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองเงินฝากและการบริหารจัดการองค์กร


นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และเดินหน้าพัฒนาระบบงานที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Al) เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจนในระยะยาว เพื่อมอบความมั่นใจในทุกความไม่แน่นอนให้กับผู้ฝากและประชาชนได้อย่างยั่งยืน


อย่างไรก็ดีในปัจจุบันผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงินอยู่ที่ 97.46ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วน 98.20%ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ สะท้อนอันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2ในเอเชีย และอันดับที่ 31 ของโลก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง