รีเซต

ฝ่ายค้าน จ่อชงกม.ประชามติ ประกบฉบับรบ. หวั่นซ้ำรอยปี59 จำกัดเสรีภาพ ปิดปากปชช.

ฝ่ายค้าน จ่อชงกม.ประชามติ ประกบฉบับรบ. หวั่นซ้ำรอยปี59 จำกัดเสรีภาพ ปิดปากปชช.
มติชน
9 พฤศจิกายน 2563 ( 14:31 )
61
ฝ่ายค้าน จ่อชงกม.ประชามติ ประกบฉบับรบ. หวั่นซ้ำรอยปี59 จำกัดเสรีภาพ ปิดปากปชช.

เมื่อเวลา 13.25 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตัวแทน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคพท. กล่าวว่า ในประเด็น พ.ร.บ.ประชามติที่รัฐบาลเสนอไปยังรัฐสภานั้น ฝ่ายค้านมองว่าเป็นร่างที่มีปัญหามาก เพราะมีการจำกัดเสรีภาพของพี่น้องประชาชนคล้ายกับการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 59 ต่อมาคือ ประเด็นคำถาในการทำประชามติไม่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลต้องการ ขอบเขตที่ให้อำนาจ กกต. ก็ยังมีปัญหาอยู่ สุดท้ายพรรคร่วมฝ่ายค้านจะต้องทำร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับของพรรคฝ่ายค้านเพื่อยื่นประกบกับของรัฐบาล ทั้งนี้ เราคงต้องปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานสภา ว่าพ.ร.บ.นี้ มีรูปแบบคล้ายพ.ร.บ.ปฏิรูปหรือไม่ และต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่ เหตุใดจึงไม่เข้าสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเรามองว่า รัฐบาลต้องการยืมมือวุฒิสมาชิกเพื่อให้พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านไปตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการ จึงทำให้พ.ร.บ.ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่รักษาสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

 

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าและประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพท. กล่าวว่า 1.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติโดยอ้างว่าเสนอตามหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ จึงต้องให้รัฐสภาพิจารณา แต่เราเห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติไม่ใช่การปฏิรูปประเทศ แต่ต้องเป็นกฎหมายปกติ คือเสนอให้สภาผู้แทนรษฎร แล้วจึงค่อยส่งให้ส.ว.พิจารณาต่อไป 2.เมื่อดูรายละเอียดแล้ว กฎหมายนี้ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่รัฐบาลเสนอมานั้น ไม่มีสักมาตราเดียวที่ผ่านการแสดงความเห็นของประชาชน มีการประทับว่า ไม่มีความคิดเห็นๆๆ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายสำคัญขนาดนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ไม่มีความคิดเห็นเลย เราจึงตั้งคำถามว่า มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจริงหรือไม่ หากรับฟัง รับฟังอย่างไร 3.กฎหมายเขียนไว้กว้างๆว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแจ้งนายกฯทราบเพื่อไปดำเนินการ ซึ่งมองว่าจะเป็นปัญหาเพราะไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะแก้ในประเด็นอะไรบ้าง 4.ร่างพ.ร.บ.ประชามติของรัฐบาลที่เสนอไม่ได้มีบทบัญญัติที่เปิดโอกาสให้ประชาชน หรือกลุ่มต่างๆรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญต่อพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการจับกุม และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างในการรณรงค์ ดังนั้น เรามองว่า การไม่มีส่วนของเรื่องรณรงค์ไว้ถือเป็นความบกพร่องในการร่างรัฐธรรมนูญ และ 5.พรรคฝ่ายค้านมีมติยกร่างพ.ร.บ.ประชามติเพื่อเสนอให้สภาพิจารณาควบคู่ไปกับร่างของรัฐบาลด้วย

 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า แม้จะมีการปรับถ้อยคำบ้างจากพ.ร.บ.ประชามติที่เคยใช้เมื่อปี 59 แต่โดยรวมแล้วเรายังเห็นว่า เป็นพ.ร.บ.ประชามติที่เน้นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นด้านหลักอยู่ ถ้ายังเป็นแบบนี้ เรากังวลว่าภาพที่กกต.ไปเซ็นเซอร์สื่อ หรือประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลจะยังมีอยู่ และจะเป็นการทำประชามติที่อัปยศ ในสัปดาห์หน้าเราจึงต้องเสนอร่างของฝ่ายค้านประกบด้วย นอกจากนี้ เราขอตั้งข้อสังเกตจากกรณีที่ให้ 2 สภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ร่วมกันในคราวเดียวว่า 1.เราสงสัยในเจตนาว่าเร่งรัดเพื่ออะไร เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปตามความต้องการของส.ส.ฝั่งรัฐบาล และส.ว.บางท่านหรือไม่ การเร่งรัดเป็นพิเศษนี้มีเจตนาที่น่าสงสัยว่าต้องการเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.พรรคฝ่ายค้านเคยชี้ให้เห็นการกำหนดกฎหมายปฏิรูปประเทศ ให้อำนาจพิเศษส.ว.ร่วมโหวตกฎหมาย ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประชามตินี้ตีความว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นการสร้างกฎหมายพิเศษของรัฐบาลเพื่อต้องการให้ส.ว.เข้ามาแทรกแซงเสริมเสียงให้กับส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปประเทศ จึงเป็นปัญหาว่า ควรยกเลิกอำนาจส.ว.ในกฎหมายปฏิรูปประเทศหรือไม่

 

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า เมื่อปี 59 ตนได้รณรงค์ปราบโกงในการลงประชามติ เรายังถูกดำเนินคดี โดยเอาขึ้นศาลทหาร ทั้งมวลชนที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็โดนดำเนินคดีในศาลทหารจำนวนมาก ทั้งที่ควรมองว่าเราช่วยป้องกัน และปราบปรามการทุจริต เราจึงมองว่า จะกลายเป็นการปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง และแม้แต่สื่อเองก็จะนำเสนออะไรแทบไม่ได้

 

เมื่อถามว่า หากใช้กระบวนการปกติในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติจะใช้เวลามาก ซึ่งอาจทำให้กระทบกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ยังไม่เข้า ก็น่าจะใช้เวลาระยะหนึ่ง ต่อมา คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆที่กว่าจะผ่านวาระรับหลักการ และวาระอื่นๆ ระหว่างทางเราสามารถเสนอร่างพ.ร.บ.ประชามติควบคู่กันไปได้ โดยใส่เรื่องของการรณรงค์ และประเด็นคำถามที่จะถามเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ตนมองว่า เวลาไม่น่าจะห่างกันมากนัก และสามารถเร่งรัดการพิจารณาให้ทันได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง