รีเซต

สธ.รับโควิดทำคนกรุงอ่วม ชี้สังคมเมืองซับซ้อน กลุ่มเสี่ยงเข้าไม่ถึงการรักษา-วัคซีน ดันทีม CCRT รุกช่วย

สธ.รับโควิดทำคนกรุงอ่วม ชี้สังคมเมืองซับซ้อน กลุ่มเสี่ยงเข้าไม่ถึงการรักษา-วัคซีน ดันทีม CCRT รุกช่วย
มติชน
19 กรกฎาคม 2564 ( 14:53 )
59

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษก สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงอยู่บ้านที่ไม่สามารถเข้าไปดูแล ส่งต่อออกไปยังโรงพยาบาล (รพ.) ได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เข้าไปดูแล พบปัญหาหลัก คือ การเข้าไม่ถึง มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนของเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการได้เลยจำนวนมาก เจ็บป่วย ไม่สบายก็ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ทีมช่วยเหลือจาก สธ. ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็เข้าไปไม่ถึง แต่กรณีที่เข้าถึงก็พบปัญหาที่ซับซ้อนจริงๆ ไม่ใช่มิติที่จะเข้าไปควบคุมโรคอย่างเดียว แต่มีหลายมิติ เช่น การดูแล รักษา ให้วัคซีนป้องกัน ตรวจหาเชื้อเชิงรุก ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความหลากหลายของหน่วยงาน ดังนั้น ภารกิจของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในชุมชนได้

 

 

 

“นอกจากนี้ ยังมีความทุกข์เรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ เราพบในหลายพื้นที่ว่า ลูกติดเชื้อแต่ต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ที่อยู่ในบ้าน ทั้งหมดนี้จะเป็นภาพความซับซ้อนของการแก้ไขปัญหา สธ. และ กทม. เห็นปัญหาดังกล่าว จึงมองว่า ภาพการแก้ไขปัญหาต้องมีการบูรณาการทำอย่างเบ็ดเสร็จ จึงต้องมีทีมเคลื่อนที่เร็ว หรือ CCRT เป็นการเข้าไปเชิงรุก” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

 

 

 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ทีม CCRT จะเข้าไปเชิงรุก พาผู้ป่วยที่มีอาการในกลุ่มสีเหลือง สีแดง ออกมา รพ.เพื่อทำการรักษา ซึ่งเราพบว่าจำนวนมากเป็นกลุ่มสีเหลืองที่พร้อมเข้าสู่อาการรุนแรงจนเสียชีวิต เราต้องทำให้ผู้ป่วยไม่พัฒนาอาการไปถึงความรุนแรงของโรค ดังนั้น จึงต้องเร่งเข้าไปดูแล และต้องป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อไปแพร่ต่อให้คนอื่น การดำเนินการของทีม CCRT ได้เริ่มเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการปฐมภูมิจากภาคเอกชนที่มีอยู่ในกทม.มากถึง 80% การทำงานของทีมจะไม่ทำเป็นครั้งๆ แล้วจบไป แต่สิ่งสำคัญคือควมต่อเนื่อง มองปัญหาของประชาชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อดูแลเขาเสมือนเป็นคนในครอบครัว

 

 

“เราเน้นพื้นที่สำคัญ โดย กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง แต่ละพื้นที่จะคัดเลือกออกมาว่า พื้นที่ใดเป็นปัญหามีความเร่งด่วน ทีมดังกล่าวจะไปทำเชิงรุกในพื้นที่ ดูแลความเจ็บป่วย และเราพบว่ามีประชาชนติดอยู่ในชุมชน เพราะเข้าไม่ถึง ทีมก็จะเข้าไปดูแลรักษา มีระบบส่งต่อจากหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินไปยัง รพ. และเข้าไปดูแลผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งด้วยมาตรการแยกกักที่บ้าน(home isolation: HI) ให้ยา ส่งคุณหมอเข้าไป และเราทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน เพื่อให้ทราบว่า บ้านใดบ้างที่มผู้ป่วยสีแดง ผู้ป่วยที่มีปัญหา เพื่อให้ความช่วยเหลือ” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

 

 

โฆษก สธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น มีการคัดกรองหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) โดยสื่อสารกับประชาชนว่า แม้จะให้ผลลบ แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวเหมือนว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงหรือเป็นผู้ที่ติดเชื้อตลอดเวลา ขณะเดียวกัน พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความซับซ้อน เกือบ 100% ไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากไม่สามารถลงทะบียนหรือเข้าถึงระบบได้ แม้จะลงทะเบียนได้ก็ไม่มีใครพาไป ดังนั้น เราต้องแก้ไขปัญหาด้วยการบริการฉีดที่หน้างาน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

 

 

“หากเราไม่ได้ทำอะไรเลย ภายใน 7-14 วัน หรือ 1 เดือนข้างหน้า หากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ติดเชื้อก็จะกลายเป็นผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้น เราลงพื้นที่ไปเพื่อดูแลกลุ่ม 608 คือ สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ แต่วัคซีนไม่ใช่เครื่องมือเดียว การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตัวเสมือนว่าเป็นคนติดเชื้อแล้ว ความรู้เหล่านี้สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจ ทำได้ และเมื่อฉีดัวคซีนแล้วกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ก็จะได้รับการปกป้อง” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

 

 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ในการขยายผลเป้าหมายคือ จะนำสู่ 188 ทีม ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการให้ต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 เดือน ซึ่ง สธ. พร้อมให้การสนับสนุนชุดตรวจ ยาที่จากเดิมต้องมารับที่สถานพยาบาล ในวันนี้ทีม CCRT แพทย์จะเข้าไปรักษาผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงถึงที่บ้าน พร้อมกับทีมฉีดวัคซีนเชิงรุก เราทำงานกันอย่างเต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง