รีเซต

คุยกับนักสะสม ทำไม 'นาฬิกาหรู' ราคาพุ่ง และเหตุผลที่ถึงมีเงิน ก็ซื้อไม่ได้

คุยกับนักสะสม ทำไม 'นาฬิกาหรู' ราคาพุ่ง และเหตุผลที่ถึงมีเงิน ก็ซื้อไม่ได้
มติชน
25 มีนาคม 2565 ( 14:35 )
228

นาฬิกาแบรนด์หรู เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งอีกหนึ่งไอเท็ม ที่เหล่าบรรดานักลงทุน ควักกระเป๋าซื้อเก็บ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต ยิ่งกับแบรนด์และรุ่นที่หายาก นักสะสมก็ต่างควานหาจนทำให้ราคาพุ่งขึ้นไม่น้อย

ยิ่งกับช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นับแต่การแพร่ระบาดของโคโรนา ไวรัส ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายแบรนด์จำเป็นต้องขยับค่าจ้างพนักงาน รวมไปถึงค่าวัสดุและค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่นๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้บรรดาแบรนด์เนมทั่วโลก ปรับขึ้นราคาของ นาฬิกา กระเป๋า หรือ สินค้าลักชั่วรี่ต่างๆขึ้นอีก

ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ชื่อดังระดับโลก ที่นักสะสมหลายคนไม่พลาดอย่าง ROLEX ก็ปรับราคาขึ้น ตั้งแต่ 3-11 % หรือจะเป็นแบรนด์ Hublot ในเครือ LVMH ก็ปรับราคาขึ้น 3-4% ในปีนี้เช่นกัน ยังไม่นับกับการควานหานาฬิกาเรือนหรู ที่ไม่ใช่ว่ามีเงินจะสามารถครอบครองได้ ด้วยแบรนด์นาฬิกา Big 4 อย่าง Rolex, Patek Philippe, Audemars Piguet และ Richard Mille ต่างผลิตเรือนเวลาในจำนวนจำกัด เพื่อรักษาคุณภาพและความพิเศษเฉพาะตัว ยิ่งทำให้ราคานาฬิกา พุ่งขึ้นสูงแทบจะทันทีที่วางจำหน่าย

McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง ได้ประมาณการว่ายอดขายนาฬิกามือสองพุ่งขึ้นแตะ 18,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2562 และอาจแตะ 30,000 ดอลลาร์ ในปี 2568 ซึ่งยอดขายนาฬิกามือสอง จะมีขนาดเป็นครึ่งหนึ่งของตลาดนาฬิกาขายปลีกในปีเดียวกันนั้น ตามรายงานของ Morgan Stanley ยังพบว่า Rolex ขายนาฬิกาได้ 810,000 เรือนในปี 2563 ในขณะที่ Patek ขายได้ 53,000 เรือน Audemars 40,000 เรือน และ Richard Mille 4,300 เรือน (ที่มา CNBC)

ในอีกแง่หนึ่ง การล็อกดาวน์ทำให้สินค้าลักชัวรีทั้งหลาย เป็นที่ต้องการมากขึ้น แฟชั่นวินเทจ ทั้งเสื้อผ้า นาฬิกา โดยเฉพาะกับกระเป๋าถือ ได้รับความนิยมในตลาดสินค้ามือสอง โดยในปี 2563 พบว่าการประมูลสินค้าทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากช่วงก่อนหน้าการระบาด ผลสืบเนื่องมาจากการไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศได้

รวมไปถึงการเติบโตของแรงหนุนจากหุ้น และ สกุลเงินดิจิทัล ยิ่งทำให้นักสะสมรุ่นใหม่ที่สนใจซื้อและขายนาฬิกาออนไลน์ ปรับตัวขึ้นแบบก้าวกระโดด

แล้วกับแวดวงนาฬิกาไทย เป็นเช่นไร?

เข้าใจโลกแห่งเรือนเวลา

ดร.เชษฐา ส่งทวีผล หรือ ดร.บอย ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือนเวลาหรูและซูเปอร์คาร์ ให้ข้อมูลเรื่องนาฬิกาไว้ว่า จากสถานการณ์โควิด ทำให้คนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ โดยผู้ผลิตนาฬิกานั้น จะส่งนาฬิกาทุกรุ่น ให้ทุกประเทศจำนวนเท่าๆกัน อย่างรุ่นพิเศษอาจะได้ 1-2 เรือน เต็มที่ 5 เรือน หรืออย่าง ปาเต็ก ฟิลลิป เต็มที่ 10 เรือน ซึ่งทั่วประเทศนั้น จริงๆแล้วไม่พอ เพราะความต้องการซื้อมันมากเกิน จากที่จะบินไปหาซื้อที่สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่มักจะเหลือเพราะเขาไม่ค่อยซื้อของฟุ่มเฟือยเหล่านี้ ก็กลายเป็นว่าทำได้ยาก

“ยิ่งกับการซื้อออนไลน์ ยิ่งทำไม่ได้ เพราะนาฬิกายี่ห้อไหน รุ่นไหน ก็ต้องเป็นเฉพาะประเทศนั้น ตัวอย่าง นาฬิกา ริชาร์ด มิลล์ อาร์เอ็ม 11 ในไทยมีเพียง 5 เรือน ยิ่งไม่มีตัวแทนจำหน่ายในไทยตอนนี้ การจะหาซื้อนาฬิกาดังกล่าว ก็ยิ่งต้องเอาราคาต่างประเทศตั้ง บวกด้วยภาษี”

ดร.เชษฐา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ราคานาฬิกาไม่มีมาตรฐาน อย่างนาฬิกาที่บอกว่าเรือนละ 20 ล้าน จริงๆแล้ว ราคาที่กลางที่ซื้อมาอาจจะไม่ถึง เหมือนกับพระเครื่อง ทำให้ไม่มีบริษัทไหน กล้าจะทำประกันให้ ต่างประเทศก็อาจจะรับประกันราคาที่ออกมาจากศูนย์ หากเสียหาย ก็ไม่ได้ราคาที่เราซื้อ ซึ่งเราอาจจะซื้อมา 4 ล้าน แต่ราคาพุ่งไป 20 ล้านแล้ว

ริชาร์ด มิลล์ เรือนเวลาที่นักสะสมแห่ครอบครอง

ย้อนกลับไป 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ ดร.บอย บอกว่า ริชาร์ด มิลล์ แทบจะเป็นนาฬิกาที่อาจจะไม่ได้มีคนสนใจนัก แต่เมื่อ นักการเมืองมาสวมใส่ คนเริ่มหาข้อมูลมากขึ้น กระทั่งทุกคนรู้ว่า ริชาร์ด มิลล์ สตาร์ทที่ราคา 7 หลัก ใครใส่ก็รู้โดยอัตโนมัติว่าหลักล้าน ทำให้นักสะสมสนใจเลือกหามาใส่ ใครมีก็อยากโชว์ ไม่เหมือนกับ ปาเต็ก ฟิลลิป หรือ โรเล็กซ์ ที่มีราคาหลักแสนบ้าง

“ริชาร์ด มิลล์ ส่วนใหญ่ซื้อมาใส่ เป็นของหายาก นับกันแล้ว ริชาร์ด มิลล์ ก็เหมือนคริปโต วัยรุ่นกล้าได้กล้าเสียก็จะเสี่ยง ส่วน ปาเต็ก ฟิลลิป ก็เหมือนหุ้น สูงแต่ก็ไม่เหมือนกับริชาร์ด มิลล์”

และด้วยไม่มีตัวแทน อย่างที่ดร.เชษฐา ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั้น ทำให้นาฬิกาแบรนด์ดังกล่าว ขยับราคาขึ้นสูง โดยว่า ก่อนช่วงโควิดจะแพร่ระบาด ไทยยังมีตัวแทนจำหน่ายก่อนหมดสัญญาไป ซึ่งไทยอยากต่อสัญญามาก แต่ทางแบรนด์อยากทำเอง พอไม่มีร้านขาย ทำให้ราคานาฬิกาพุ่งสูงขึ้น เรือนที่บอกว่า 20 ล้าน อาจจะขายต่างประเทศที่ 2-4 ล้านบาท บางเรือนก็พุ่งไปร้อยล้าน ถือเป็นแบรนด์เดียวในตอนนี้ในไทย ที่ไม่มีตัวแทนมา 2 ปีแล้ว

“การไม่มีคนขาย ไม่มีศูนย์บริการ คนที่จะซ่อมนาฬิกาก็ต้องคิดหนัก นาฬิกาเป็นแบรนด์สวิต หากไม่มีช่างเฉพาะ มาเจอช่างไทยรื้อออกมาแล้วประกอบใหม่ ข้างในก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดูยาก คนที่คิดจะลงทุนใหม่ๆ ก็ซื้อเพราะกำไรดี แต่เราอยู่มานาน ก็รู้ว่ากำไรดีจริง แต่หากมันหยุดเดิน ไม่ทำงาน จะไปซ่อมที่ไหน สมมติว่าเรือนที่ไหม้ไป เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข้างในฟังก์ชั่นเป็นอย่างไร การบอกว่าราคานาฬิกา 21 ล้าน ใช่ตอนนี้ราคาในตลาดเป็นแบบนั้น แต่ใครจะการันตีว่า 21 ล้านนี้ จะมีคนซื้อหรือไม่” ดร.บอย กล่าว

คริปโต ดันราคาพุ่ง

ดร.เชษฐา ยังเล่าถึงแวดวงนาฬิกา ที่ราคพุ่งขึ้น โดยว่า การเก็บสะสมนาฬิกาทุกวันนี้ คนนำมาขายต่อกัน เพราะคนได้เงินมาเร็ว ทั้งจากคริปโต และพนันออนไลน์ คนต้องการเก็บเป็นทรัพย์สินที่ใหญ่ เคลื่อนย้ายได้ง่าย สมมติจะบินไปอังกฤษ อยากนำเงินไปด้วย 20 ล้านบาท ก็ไม่สามารถเอาเงินไปด้วยได้ แต่ถ้านำนาฬิกาไปก็ขายได้เลย แม้ว่าจะขายไม่ได้เท่าราคาที่ซื้อมา กลายเป็นว่านาฬิกาก็มูลค่าสูงขึ้น เปลี่ยนมือไว คอร์รัปชั่นก็ไว

“แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ว่ามีนาฬิการิชาร์ด มิลล์ แล้วจะมีเงินหมด ทุกวันนี้ของปลอมเยอะมาก ที่เราเห็นใส่ๆ กัน มอบไปบนถนน 100 เรือน เกินครึ่งเป็นของปลอม ซื้อแบบไม่รู้บ้าง โป๊ะแตกบ้าง ใส่ไปถ่ายรูป บางคนใส่อยู่โพสต์ลงไอจี ก็มองอออกว่าปลอม นักแสดงก็มี ริชาร์ด มิลล์คนใส่เยอะ อย่างเมืองไทยหลายคน ใส่โรเล็กซ์เป็นเพชรสีๆ คือเป็นโรเล็กซ์แท้ เรือนไม่กี่แสน แต่เอาไปใส่เพชรสีๆเอง ให้ดูเหมือนรุ่นที่มีเพชร ก็เรียกว่าปลอมแล้ว” ดร.เชษฐากล่าว

จุดพีค ราคานาฬิกา

หากจะเริ่มลงทุนกับเรือนเวลาในวันนี้ ดร.บอย ก็บอกว่ามีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย

“เราต้องไปดูว่าขึ้นสูงสุดหรือยัง ตอนนี้พีคสูงสุดแล้ว ไม่มีทางพีคไปกว่านี้ เพราะคนเดินทางไม่ได้ หากบินได้ เราก็ยังเดินทางไปเมืองเล็กๆในสวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย ซึ่งจะมีนาฬิกาหรูเกือบทุกแบรนด์ แต่คนท้องถิ่นเขาไม่ซื้อ ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวไป ของพวกนี้ก็จะอยู่ ฝรั่งไม่เหมือนคนเอเชีย ของพวกนี้ยังมีตามร้านต่างๆ ทำให้ราคามันสูง”

“ตอนนี้เริ่มเปิดประเทศ ก็เห็นคนเริ่มบินไปหิ้วมา ไปซื้อก่อนใคร แต่ใช่ว่าเราไปแล้วจะไปขนกลับมาได้ เพราะมันมีลูกค้าประจำ จองไว้ แล้วเปิดประเทศเดี๋ยวจะไปเอา เพียงแค่ร้านออกบิลให้ไม่ได้ เพราะชื่อต้องตรงกับใบรับประกัน คนซื้อจึงต้องไปรูดจ่ายเอง ไม่ใช่สั่งเอาได้ เขาบังคับให้คนละใบ ชื่อก็ต้องลง มิเช่นนั้นพนักงานก็แอบเอาไปขายได้ แบรนด์จะเสียเครดิต”

คู่มือก่อนลงทุน

ดร.เชษฐา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ นาฬิกาหลายแบรนด์ อาทิ sevenfriday มีเทคโนโลยีที่ฝังชิบ สแกนได้ว่าใครเป็นเจ้าของผ่านแอพพ์ เป็นเทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรของเขา ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่น่าลงทุน จากเรือนละ 4 หมื่นบาท ก็ขายได้แสนสี่ สองแสนก็มี ราคาขึ้นอยู่เหมือนกันเพราะของมันน้อย เพราะแบรนด์นาฬิกาส่งของมาให้ไม่ได้

“การบอกว่าลิมิเต็ด 100 เรือน ไม่ใช่ว่าไม่เหลือ เพราะอาจจะถูกส่งไปประเทศบางที ซึ่งคนท้องถิ่นเขาไม่ได้ซื้อ แต่เสียภาษีแล้ว แต่ร้านขายข้ามประเทศไม่ได้ หากเราอยากได้ มันสวย เพิ่มอีก 5 หมื่น ก็มีคนหิ้ว”

และว่า การจะลงทุน ก็ต้องเลือกแบรนด์ที่สตรอง ไม่มีส่วนลดเยอะๆ อย่าง หลุยส์ วิตตอง , กุชชี่ ไม่ปรับลง แบรนด์ที่ปรับราคาขึ้นบ่อยๆ ก็มีความต้องการ เพราะผลิตไม่เยอะ แต่จะให้อยากได้แล้วได้ของ ก็เป็นไปได้ยาก เพราะรุ่นที่เขาลงทุนกัน ก็ไม่มีของให้ซื้อ

“หากซื้อโรเล็กซ์ ก็ต้องเป็นสตีล ราคาในช็อป 7 แสน อาจจะขึ้นเป็น 2 ล้าน ลงทุนน้อยแต่ขายได้แพง สตีลเป็นรุ่นที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ เพราะทำยาก กำไรน้อย ราคาก็เลยขึ้น”

ส่วนคำถามที่ว่า การซื้อนาฬิกาเหล่านี้ สามารถซื้อประกันไว้ได้หรือไม่ ดร.เชษฐา บอกว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นใครทำ เพราะเอาเข้าจริง ราคาในตลาดพุ่งขึ้นสูงมาก ด้วยปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น นั่นทำให้ หากจะประกัน ก็คงประกันเพียงราคากลางจากศูนย์

“เมื่อจ่ายแค่ราคาประกันจากศูนย์ ที่เหลือก็เป็นความสูญเสียของเจ้าของนาฬิกาเอง อย่าง ปาเต็ก ฟิลลิป 5 ล้านจริง แต่หาไม่ได้อีกแล้ว ประกันก็จ่ายเพียง 5 ล้าน หรืออย่างรถลิมิเต็ด 765 แอลที ราคาออกใหม่ 40 ล้าน แต่ราคาพุ่งไปแล้ว 70 ล้าน ก็จ่ายแค่ราคากลาง เราก็สูญกำไรตรงนี้ที่อาจจะได้ ราคาตรงนี้ก็เหมือนเสน่หา เหมือนพระ ที่เช่ามา”

“ส่วนจะทำอะไรได้บ้าง ก็คงต้องดูจากประกันสถานที่ ซึ่งก็อาจจะจ่ายแค่ราคากลางเป็นที่ตั้งเหมือนกัน เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่า ราคาจริงคือเท่าใด” ดร.บอย ทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง