บุกห้องควบคุม “THEOS-2” ส่องกระบวนการสื่อสารกับดาวเทียม | TNN Tech Reports
ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 08.36 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เป็นวันที่วงการอวกาศไทยมีเรื่องให้น่าตื่นเต้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่มีการปล่อยดาวเทียมธีออส - 2 ดาวเทียมสำรวจโลกที่มีความละเอียดสูงมากดวงแรกและดวงเดียวของไทยในตอนนี้ ขึ้นสู่อวกาศ ที่ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียน่า ของประเทศฝรั่งเศส ในพื้นที่ทวีปอเมริกาใต้
ทางทีม TNN Tech เองได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับเกียรติให้เข้าไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน ภายในสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นห้องควบคุมการทำงานของดาวเทียมธีออส-2 ซึ่งปกติแล้ว ห้องนี้ไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไป
ห้องปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน
ห้องปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน มีหน้าที่อยู่ 3 ส่วนหลัก ๆ คือเรื่องของการควบคุมดาวเทียม การผลิตภาพ และการควบคุมดาวเทียมให้อยู่ในตำแหน่งวงโคจรที่ถูกต้อง
ยกตัวอย่างการป้อนคำสั่งให้ดาวเทียมถ่ายภาพ
1. ผู้ใช้แจ้งความต้องการเข้ามา โดยจะต้องส่งรายละเอียดความต้องการไปที่สำนักงานใหญ่ของ Gistda ที่ศูนย์ราชการ เพราะฉะนั้นแต่ละวัน ห้องนี้จะได้รับข้อมูลมาประมวลผลที่นี่ ว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่ต้องการให้ไปถ่ายภาพ
2. เมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาแล้ว จะทำการประมวลผล จากนั้นจะได้คำสั่งชุดหนึ่ง เพื่อจะส่งคำสั่งนี้ไปบอกดาวเทียมว่าดาวเทียมจะต้องไปถ่ายภาพที่ไหนบ้างในโลก
3. เมื่อดาวเทียมได้รับคำสั่ง จะทำการเปิดกล้องเพื่อถ่ายรูปในตำแหน่งนั้น ๆ ถ้าดาวเทียมไม่ผ่านประเทศไทยก็จะรวบรวมไว้ในหน่วยความจำของตัวดาวเทียม
4.และเมื่อเคลื่อนผ่านประเทศไทย จะทำการดาวน์โหลดข้อมูลที่ได้ลงมายังห้องปฏิบัติการ และทำการแปลสัญญาณเหล่านั้นให้กลายเป็นภาพ
ภาพที่ได้ดาวเทียมธีออส - 2 จะมีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน ละเอียดดาวเทียมธีออส-1 หรือไทยโชต ที่เก็บรายละเอียดได้ขนาด 2 เมตร พูดง่ายๆ ความละเอียดในการถ่ายภาพดีกว่า 4 เท่านั่นเอง
นอกจากการถ่ายภาพดาวเทียมแล้ว ห้องปฏิบัติการภาคพื้นดินแห่งนี้ ยังมีไว้สื่อสารกับดาวเทียม โดยดาวเทียมจะเคลื่อนผ่านประเทศไทย ช่วงประมาณ 9 โมงเช้า - เที่ยง และช่วง 3 ทุ่ม - เที่ยงคืน ซึ่งจะมีการสื่อสารกับดาวเทียมวันละ 4 ครั้งด้วยกัน
สิ่งที่ต้องพูดคุยกับดาวเทียมเป็นประจำ คือ การรับสิ่งที่ดาวเทียมไปเก็บข้อมูลมาให้ และป้อนคำสั่งใหม่ให้ดาวเทียมในเวลาเดียวกัน แต่ระหว่างวันนั้นวิศวกรจะต้องติดตามสุขภาพของดาวเทียม รวมถึงวางแผนงานในการป้อนคำสั่งถัด ๆ ไป ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานกันตลอด 365 วัน เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในยามที่ดาวเทียมมีปัญหา
ดาวเทียมธีออส - 2A
ประโยชน์ที่ได้รับจากข้อมูลดาวเทียมธีออส-2 จะถูกนำมาใช้พัฒนาประเทศในหลายด้าน เช่น การทำแผนที่ การบริหารจัดการการเกษตร สามารถประเมินพื้นที่เพาะปลูกและคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดได้ล่วงหน้า การบริหารจัดการน้ำ สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำ และประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ การจัดการภัยธรรมชาติ วางแผนบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที การจัดการเมือง จัดการพื้นที่ห่างไกลและทรัพยากรธรรมชาติ ไปจนถึงการยกระดับเศรษฐกิจอวกาศของไทย
นอกจากดาวเทียมธีออส - 2 โครงการนี้ยังมี โครงการดาวเทียมธีออส - 2A เป็นโครงการที่วิศวกรของคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างออกแบบ และทางประเทศไทยเราก็ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องศูนย์ทดสอบประกอบดาวเทียมแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย
ดาวเทียมธีออส - 2A คาดว่าจะปล่อยขึ้นในช่วงต้นปี 2024 และยังมีโครงการธีออส 3 เข้าไปเติมเต็มการสำรวจโลกในวงโคจรอีกด้วย
ภาพรวมเศรษฐกิจอวกาศ
ด้าน ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 GISTDA ยังได้มองว่า โครงการดาวเทียมธีออส-2 นี้จะช่วยสร้างเศรษฐกิจอวกาศให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา โครงการนี้ได้สร้างผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของดาวเทียมระดับ Space Quality Standard ให้เกิดขึ้น และผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน จากที่ก่อนหน้าประเทศไทย จัดอยู่ในลำดับเทียร์ 3 หรือผลิตชิ้นส่วนตามที่สั่งมาเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง
แนวทางที่ GISTDA ทำอยู่นี้ จึงเรียกว่าครบหมดทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สร้างผู้ประกอบการ ไปจนถึงพัฒนาบุคลากรไทย ไปสู่วงอวกาศโลก