รีเซต

มติ กก.ให้วัคซีนโควิด-19 ห้ามฉีดต่ำกว่า 18 ปี-หญิงมีครรภ์ ยันเยียวยาหากพบผลข้างเคียง

มติ กก.ให้วัคซีนโควิด-19 ห้ามฉีดต่ำกว่า 18 ปี-หญิงมีครรภ์ ยันเยียวยาหากพบผลข้างเคียง
มติชน
15 มกราคม 2564 ( 16:37 )
69

เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แถลงภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1/2564

 

นพ.โอภาส แถลงว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประสานการสนับสนุน และในการพบกันครั้งแรกของกรรมการ ที่ประชุมเห็นชอบร่างคำสั่งคณะทำงาน ประกอบด้วย 1.คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน 2.คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และสื่อสารประชาสัมพันธ์ 3.คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีนและกำกับติดตามผล 4.คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน 5.คณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ จึงเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาด้านวิชาการการให้วัคซีนด้วย ทั้งนี้จะมีการเสนอต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบ และขอให้คณะทำงานเร่งประชุม เพื่อเตรียมการฉีดให้ทันตามกำหนดเดิม คือ ระยะแรกที่มีวัคซีนจำกัดเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ระยะต่อไปที่มีวัคซีนมากขึ้นก็จะปรับแผนให้มีความยืดหยุ่นขึ้น อย่างไรก็ตาม วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันโรค แต่ต้องคู่กับการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันและไม่มีผลข้างเคียง

 

การเปิดลงทะเบียนวัคซีน จะเน้นในกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งต้องให้คณะทำงานหารือกันว่าจะเปิดอย่างไรบ้าง แต่เบื้องต้นเป็นการให้ฉีดโดยสมัครใจ จึงต้องเปิดให้ลงทะเบียน” นพ.โอภาส กล่าว

 

ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงมีอยู่ 2 อย่าง คือ กลุ่มเสี่ยงเป็น หมายถึง วัยหนุ่มสาว หรือผู้ไม่มีโรคประจำตัว และ กลุ่มเสี่ยงตาย ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ที่เมื่อป่วยแล้วจะต้องมีการใช้ท่อช่วยหายใจ ใช้ทรัพยากร บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 20 คน งบประมาณในการรักษามากกว่า 1 ล้านบาทต่อราย

 

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของวัคซีนคือ ป้องกันความรุนแรงของโรคที่มีทั้งสามารถป้องกันได้ไม่ติดเชื้อเลย หรือบางชนิดไม่ป้องกันติดเชื้อแต่ป้องกันการเป็นโรค เช่น วัคซีนคอตีบ และกลุ่มที่ไม่ป้องกันการติดเชื้อหรือเป็นโรค แต่ลดการนอนโรงพยาบาล (รพ.) ลดอัตราการตาย สำหรับวัคซีนโควิด-19 เป็นของใหม่ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะป้องกันได้มากแค่ไหน แต่เชื่อว่ามีจุดมุ่งหมายคือ ลดการนอน รพ. และอัตราการตาย จนกว่าจะได้คำตอบชัดเจนว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงมุ่งหมายในกลุ่มเสี่ยงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ห้ามฉีดในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ทดลองในคนกลุ่มนี้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายหลังจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ปกติการฉีดวัคซีนทุกอย่างมีผลข้างเคียง แต่ต้องอยู่ในระดับที่นานาชาติรับได้ และมีระบบการติดตามหลังจากฉีดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่ต้องมีระบบบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีค่าทดแทนผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีน แต่ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 ของให้คณะทำงานได้หารือกันก่อน

 

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า จะต้องมีคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น หลังการฉีด ต้องเข้าสืบสวนอย่างเร่งด่วน แต่หากฉีดเป็น 10 ล้านคน ผลข้างเคียงไม่เกี่ยว แต่ต้องเกิดเรื่องขึ้น ฉะนั้นจะต้องตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ต้องแยกว่าปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง จริงๆ แล้วฉีดวัคซีนใหม่ เกิดอะไรขึ้นก็ได้แต่ต้องถูกบันทึกแล้วสืบสวนว่า เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ หากมีคนฉีดวัคซีนแล้วเดินตกท่อ ก็ต้องหาว่าวัคซีนที่ฉีดอาจไปทำให้เวียนหัว แล้วตกท่อหรือไม่ หรืออาจจะเดินสะดุด ดังนั้น ในการฉีดระยะแรกในต่างประเทศจะถูกบันทึกไว้หมด แม้กระทั่งของโมเดิร์นนา ฉีดแล้วมีอาการปากเบี้ยว แอสตร้าเซนเนกา มีอาการไขสันหลังอักเสบ แต่เมื่อมาสืบสวนพบว่าในอังกฤษ มีอุบัติการของไขสันหลังอักเสบในคนธรรมดา รวมถึงคนที่ได้วัคซีนหลอกก็มีอาการนี้ด้วย ดังนั้นต้องติดตามไปอย่างน้อย 1-2 ปี

 

“เราต้องยอมรับว่า วัคซีนเป็นการนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ต้องชั่งน้ำหนักการป้องกันโรคอยู่เหนือกว่าอันตรายที่เกิดจากโรค ต้องยอมรับว่า มีประโยชน์มากกว่าหรือไม่ จนกว่าข้อมูลต่างๆ ดีหมดแล้ว ถึงจะบอกว่าวัคซีนตัวนี้ใช้แบบปกติในเด็กแล้ว แต่คงต้อรอระยะเวลา ในการฉีดครั้งแรกจึงต้องติดตามอาการข้างเคียงและตรวจสอบ” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า ผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 มีอย่างน้อยฉีดแล้วเจ็บ แม้กระทั่งฉีดยาหลอกก็ยังเจ็บ และส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ มีบางส่วนเป็นไข้ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง ยกตัวอย่าง ประเทศแคนาดา ฉีดไปหลักล้านโดส ก็ทราบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ การแพ้รุนแรง ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ระบุว่าโอกาสแพ้รุนแรง อาจอยู่ที่ 9 หรือ 10 ในล้านเข็ม ซึ่งเหมือนวัคซีนอื่นที่อาจแพ้ส่วนประกอบที่อยู่ในนั้น ดังนั้น หลังฉีดแล้วจะต้องนั่งสังเกตอาการใน รพ. อย่างน้อย 30 นาที เพื่อป้องกันการแพ้และให้แก้ไขทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง