รีเซต

อ.เจษฎาเฉลยแล้ว “แท่งปริศนาบนท้องฟ้าอุบลราชธานี” คืออะไร?

อ.เจษฎาเฉลยแล้ว “แท่งปริศนาบนท้องฟ้าอุบลราชธานี”  คืออะไร?
TNN ช่อง16
22 ตุลาคม 2567 ( 13:20 )
5
อ.เจษฎาเฉลยแล้ว “แท่งปริศนาบนท้องฟ้าอุบลราชธานี”  คืออะไร?

จากกรณีที่เพจ "มีด่าน อุบลราชธานี" โพสต์ภาพเมื่อเช้านี้ เป็นภาพวิวท้องฟ้า มีเมฆมาก และมีสีเหลือบสีรุ้ง โดยความแปลกคือ มีเงาสีดำๆ คล้ายแท่ง ปรากฏอยู่ในภาพด้วย “พร้อมแคปชั่นว่า  แท่งอีหยั่งครับ”


ล่าสุด รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดถึงภาพปริศนาดังกล่าวโดยระบุว่า ถ้าภาพถ่ายนี้เป็นภาพจริง ไม่มีการตัดต่ออะไร ก็พอจะวิเคราะห์เรื่องนี้ ได้ว่าประการแรก วิวเมฆสีเหลือบๆ นี้ เป็น


ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เรียกว่า "หมวกเมฆสีรุ้ง" เห็นได้บ่อยๆ เกิดจากแสงอาทิตย์ที่มากระทบกับผลึกน้ำแข็งในก้อนเมฆ และเกิดการแทรกสอดของแสงสีต่างๆ จนเห็นเหมือนเป็นสีรุ้ง


ซึ่งในโพสต์ดังกล่าว ก็มีอีกหลายคนที่มาคอมเม้นต์พร้อมรูปถ่ายทำนองเดียวกัน และเห็นชัดเจน ว่าเป็นหมวกเมฆสีรุ้ง (ดูคำอธิบายเรื่อง หมวกเมฆสีรุ้ง ได้ที่ข่าวด้านล่าง)


แต่สำหรับบริเวณที่ดูเป็น "แท่งสีดำ" ประหลาดนั้น ยังไม่ชัดเจนและน่าสงสัยอยู่ว่าคืออะไรกันแน่ ? เพราะผู้โพสต์บอกว่า มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ถ่ายติดมา ?


คือถ้ามี "เงาสีดำ" บนท้องฟ้า เหมือนเมฆถูกแหวกออก และมองได้ด้วยตาเปล่าเนี่ย ก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ "ดิสเทรล distrail" ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับ "คอนเทรล contrail" หรือเมฆท้ายเครื่องบิน 



“ดิสเทรล” เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ แต่หายาก ไม่พบบ่อยเหมือนกับ คอนเทรล (ที่เราเห็นเป็นแนวเมฆเส้นยาวบนท้องฟ้า เกิดจากผลของเครื่องยนต์เจ็ตเครื่องบิน และหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เป็นแนวจรวดยิงผ่าน) ลักษณะของดิสเทรล จะเป็นช่องตัดผ่านชั้นของเมฆ เหมือนเมฆถูกแหวกออก ..


ดิสเทรล. เกิดขึ้นได้เมื่อเครื่องบิน บินผ่านชั้นบางๆ ของเมฆ และความร้อนจากเครื่องยนต์ได้ทำให้ก้อนผลึกน้ำแข็งในเมฆ ระเหยกลายเป็นไอน้ำ เลยเห็นเป็นช่องตัดผ่านเมฆ 


หรืออีกทางหนึ่ง เกิดขึ้นระหว่างที่เครื่องบินบินผ่านชั้นของเมฆที่มีหยดน้ำเย็นจัดถึงจุดเยือกแข็ง (แต่ยังไม่กลายเป็นผลึกน้ำแข็ง) แล้วความปั่นป่วนของกระแสลมที่เกิดขึ้นขณะเครื่องบินผ่าน กระตุ้นให้กลายเป็นน้ำแข็ง หล่นลงสู่เมฆชั้นล่าง เลยเห็นเป็นช่อง 


แต่ๆๆ อย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้าเป็น distrail จริง ก็น่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าครับ ... เรื่องนี้ คงยังเป็นปริศนาต่อไปว่าเกิดจากอะไรแน่ (หวังว่าจะไม่ใช่ภาพตัดต่อ หรือเป็นความผิดปรกติของกล้องถ่ายรูป นะครับ)


ข้อมูลจาก: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

ภาพจาก: มีดาน อุบลราชธานี 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม