รีเซต

ย้ำอีกครั้ง! แนวทางปฏิบัติของประชาชน หลังเปลี่ยนผ่านโควิด-19

ย้ำอีกครั้ง! แนวทางปฏิบัติของประชาชน หลังเปลี่ยนผ่านโควิด-19
TNN ช่อง16
14 สิงหาคม 2565 ( 13:26 )
75
ย้ำอีกครั้ง! แนวทางปฏิบัติของประชาชน หลังเปลี่ยนผ่านโควิด-19

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในฟประเด็นสถานการณ์โควิด-19 และการปฏิบัติตัวหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง "ติดโควิด" วิธีตรวจ ATK ให้ได้ผลแม่นยำในกรณีที่ตรวจแรกเป็นลบ และไม่แสดงอาการ โดยระบุว่าหากป่วย มีอาการสงสัยโควิด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว  ควรปฏิบัติดังนี้  


1. ตรวจด้วย ATK หากได้ผลบวกสองขีด โอกาสเป็นโควิด-19 จริงสูง ให้แยกตัวจากคนอื่น และทำการดูแลรักษา 


2. หากตรวจ ATK แล้วได้ผลลบ อย่าวางใจ อาจเป็นผลลบปลอม (คือติดเชื้ออยู่ แต่ตรวจได้ผลลบ) ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 48 ชั่วโมงถัดไป ถ้าได้ผลบวก ก็เข้าสู่กระบวนการแยกตัวและดูแลรักษา 


3. หากตรวจสองครั้งแล้วได้ผลลบ แต่ยังมีอาการป่วยหรือสงสัย ควรตรวจด้วย ATK อีกครั้งในอีก 48 ชั่วโมง หรือไปตรวจ RT-PCR หรือปรึกษาแพทย์


สำหรับคนที่มีประวัติสัมผัสหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ แต่ยังไม่มีอาการ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระ แนะนำว่าหากตรวจ ATK แล้วได้ผลลบในครั้งแรก อย่าชะล่าใจ ควรตรวจซ้ำในอีก 48 ชั่วโมง และแม้จะยังได้ผลลบอีกครั้ง ก็ควรตรวจซ้ำเป็นครั้งที่สามในอีก 48 ชั่วโมงถัดมา



ขณะที่การแยกตัวหลังจากทราบว่าติดเชื้อ ย้ำถึงความรู้ทางการแพทย์ชัดเจนว่า จะปลอดภัยหากแยกตัวไป 2 สัปดาห์ (14 วัน) ซึ่งการแยกตัว 5 วันมองว่าไม่เพียงพอ เพราะกว่าผู้ป่วยกว่าร้อยละ 50 จะยังสามารถตรวจพบเชื้อและอาจแพร่ให้แก่คนใกล้ชิดและคนอื่นในสังคมได้ ส่วนการแยกตัว 7 วัน โอกาสหลุดยังสูงถึงร้อยละ 25  และ การแยกตัว 10 วัน โอกาสหลุด ร้อยละ  10


ดังนั้นหากแยกตัวน้อยวัน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ให้คนใกล้ชิดและคนอื่นๆหากจำเป็นต้องทำมาหากิน หรือศึกษาเล่าเรียน อาจกลับมาใช้ชีวิตได้หลังแยกตัว 7-10 วัน โดยต้องแน่ใจว่าไม่มีอาการแล้ว และตรวจ ATK อีกครั้งแล้วได้ผลลบ  ทั้งนี้ระหว่างการใช้ชีวิต ต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากาก N95 หรือเทียบเท่า และระมัดระวังเรื่องการสังสรรค์ กิน ดื่มร่วมกับผู้อื่นจนกว่าจะครบสองสัปดาห์


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  ระบุว่าขณะนี้ทั่วโลกปฎิบัติกับโรคโควิด-19 เหมือนโรคทั่วไปทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไม่มีการจำกัดการเดินทาง มีการใช้ชีวิตตามปกติแล้ว  ซึ่งเมื่อโควิดถูกปรับสถานะให้เป็นเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จะเทียบได้กับโรคไข้เลือดออก ที่ต้องมีการระวังติดต่อ  และรายงานการติดเชื้อมายังระดับกรมควบคุมโรค จากนั้นก็รายงานให้กระทรวงสาธารณสุขทราบ


สำหรับการปฏิบัติตัวของประชาชน หลังมีการเปลี่ยนสถานะโควิด เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แนะว่าประชาชนยังปฎิบัติตัวเช่นเดิม ยังคงต้องรับวัคซีนเข้มกระตุ้นทุก 4 เดือน และหากจะทำกิจกรรมร่วมกับคนหมู่มาก ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ


ส่วนการรักษาและการแยกกัก และกักตัวคนที่สัมผัสผู้ป่วยหรือเสี่ยงสูงก็จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ปัจจุบัน 10วัน หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจพิจารณาปรับลดอีก






ภาพ TNNONLINE   


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง