รีเซต

ฝรั่งเศส-เยอรมนีระงับใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ 'แอสตราเซเนกา'

ฝรั่งเศส-เยอรมนีระงับใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ 'แอสตราเซเนกา'
Xinhua
16 มีนาคม 2564 ( 10:56 )
95

ปารีส / เบอร์ลิน, 16 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 มี.ค.) ฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ตัดสินใจระงับการใช้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของแอสตราเซเนกา/ออกซ์ฟอร์ด (AstraZeneca/Oxford) ในฐานะ "มาตรการป้องกันไว้ก่อน" ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินโดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA)

 

"องค์การฯ จะลงความเห็นในบ่ายวันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.)  การตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเพื่อกันไว้ก่อนนั้นสอดคล้องต่อนโยบายของยุโรป โดยเราหวังว่าจะกลับมาดำเนินการฉีดวัคซีนต่อได้โดยเร็วที่สุดหากความเห็นออกมาในทางที่ดี" เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกล่าวในงานแถลงข่าวที่เมืองมงโตบ็องทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ระหว่างการร่วมงานประชุมสุดยอดฝรั่งเศส-สเปนครั้งที่ 26 กับ เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีของสเปน

 

ด้าน เยนส์ ชปาห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีได้อ้างถึงคำแนะนำที่ออกโดยสถาบันพอล เอห์ลิช (PEI) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลกลางเยอรมนี ที่มีการอ้างอิงรายงานใหม่ๆ เกี่ยวกับการอุดตันของหลอดเลือดดำในสมอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการรับวัคซีนของแอสตราเซเนกา

 

(แฟ้มภาพซินหัว : บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอสเซน ในเมืองเอสเซนของเยอรมนี วันที่ 18 ม.ค. 2021)

 

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยแอสตราเซเนกาและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนี้ ได้รับอนุญาตให้ใช้ในสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 29 ม.ค.

"เพื่อยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้ เราจำเป็นต้องให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของเราทั้งในเยอรมนีและสหภาพยุโรปได้ใช้เวลาในการตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้" ชปาห์นกล่าวและเสริมว่า คาดว่ามติขององค์การฯ เกี่ยวกับวัคซีนแอสตราเซเนกาจะออกมาในสัปดาห์นี้

 

ทั้งนี้ มีหลายประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ออสเตรีย อิตาลี บัลแกเรีย เดนมาร์ก โรมาเนีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก ลัตเวีย และประเทศนอกสหภาพยุโรปอย่างนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ ที่ได้ระงับการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาบางส่วนหรือโดยสมบูรณ์แล้ว หลังมีรายงานพบการเสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่ามีสาเหตุมาจากภาวะเลือดแข็งตัว ซึ่งเกิดขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน

องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเมื่อวันศุกร์ (12 ม.ค.) ว่าทางองค์การฯ "คอยตรวจสอบสัญญาณความปลอดภัยอย่างเป็นระบบอยู่เสมอและกำลังประเมินรายงานปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแอสตราเนกาอย่างถี่ถ้วน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง