รีเซต

ของขวัญปีใหม่ชาวสวนยาง! 'จุรินทร์' แจ้งเกษตรกรรับส่วนต่างประกันรายได้ งวด 2 ส่งท้ายปี

ของขวัญปีใหม่ชาวสวนยาง! 'จุรินทร์' แจ้งเกษตรกรรับส่วนต่างประกันรายได้ งวด 2 ส่งท้ายปี
มติชน
25 ธันวาคม 2563 ( 12:16 )
54

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้แจ้งเกษตรกรถึงสิทธิที่ได้รับต่อการออกประกาศของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เรื่อง กำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ปี 2563/64 รอบที่ 2 จากคณะกรรมการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโดยประกาศนี้ระบุถึงราคากลางอ้างอิงการขายตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและหลังวันประกาศนี้แล้วขั้นตอนต่อไปคือภายใน 3 วันทำการทาง ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่โอนเงินส่วนต่างงวดนี้เข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงตามสิทธิที่ได้รับขณะนี้การยางฯส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส.ครบแล้วคาดว่าจะโอนไม่เกินวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ซึ่งทันเป็นของขวัญปีใหม่ชาวสวนยาง

 

สำหรับรายละเอียดคือ 1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคายางที่ประกันรายได้ 60.00 บาทต่อกิโลกรัม ราคากลางอ้างอิงการขาย 62.83 บาทต่อกิโลกรัม ด้วยราคากลางอ้างอิงสูงราคาประกันรายได้จึงไม่ต้องจ่ายส่วนต่างหรือชดเชย 2) น้ำยางสด (DRC 100%) ราคายางที่ประกันรายได้ 57.00 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคากลางอ้างอิงการขาย 49.83 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะได้รับชดเชย 7.17 บาทต่อกิโลกรัม 3) ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคายางที่ประกันรายได้ 23.00 บาทต่อกิโลกรัม ราคากลางอ้างอิงการขาย 19.35 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะได้รับชดเชย 3.65 บาทต่อกิโลกรัม สรุปคือได้รับส่วนต่างในยางพารา 2 ชนิดคือน้ำยางสดกับยางก้อนถ้วย

 

นางมัลลิกากล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดีอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเกินราคาที่ประกันรายได้ไว้เช่นเดียวกันกับการจ่ายรอบที่แล้วซึ่งรอบที่แล้วนั้นนายจุรินทร์เป็นประธาน Kick off ไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2563 มีเกษตรกรได้รับส่วนต่างงวดแรกตามเกณฑ์ที่รัฐให้นโยบายไว้โดยนโยบายนี้รัฐบาลประกันรายได้ไว้ที่ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางได้แล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ระยะเวลาโครงการปี2 คือระหว่างเดือนกันยายน 2563-กันยายน 2564

 

นางมัลลิกากล่าวว่า มาตรการเสริมมีส่วนสำคัญในการผลักดันด้านราคายางพาราให้สูงขึ้นและรัฐบาลก็ทำคู่ขนานกันไปกับโครงการประกันรายได้ เช่น มาตรการกำกับดูแลด้านปริมาณ โดยผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป ต้องแจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และ สถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน มาตรการการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่าง ต.ค. 62-ก.ย. 65 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ 5 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 1 เม.ย.63-31 มี.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57-31 ธ.ค. 67 โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง ชนิดยางแห้ง 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน ม.ค. 63-ธ.ค. 64 โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ปี 59-69 โดยสนับสนุนวงเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 3 ไม่เกิน 600 ล้านบาท เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง