รีเซต

อัปเดต! ยื่น ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี คำนวณตามคู่มือกรมสรรพากรทำอย่างไร?

อัปเดต! ยื่น ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี คำนวณตามคู่มือกรมสรรพากรทำอย่างไร?
TNN ช่อง16
2 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:59 )
279

ก่อนหน้านี้ประเด็นการเสียภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี Cryptocurrency เป็นประเด็นดรามาอย่างหนักหน่วงในกลุ่มนักเทรด ด้วยหลักเกณฑ์ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ชัดเจนและมีการตั้งคำถามถึงรายละเอียดการเรียกเก็บ จนทำให้บรรดาผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบรรดากระดานเทรด ต้องเก็บรวบรวมความคิดเห็นเพื่อยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมสรรพากรและ กลต. พิจารณาอีกครั้ง 


 โดยสาเหตุที่เป็นประเด็นให้ต้องมีการตั้งโต๊ะหารือกันหลายฝ่ายก็เนื่องจาก นักลงทุนคริปโทฯ ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องเสียภาษี 2 ส่วนคือ  ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จะต้องถูกหักในอัตรา 15% ของกำไรที่ได้  และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี  ที่หากมีการลงทุนในคริปโทฯ แล้วสร้างผลกำไรหรือเงินปันผลคืนให้  จะถือเป็นรายได้ประจำปีที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) โดยกำไรและเงินปันผลจากการลงทุนคริปโตถูกจัดอยู่ในกลุ่มเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ซ) และ (ฌ) ในประมวลรัษฎากร หมวดเดียวกับกลุ่มเงินได้ดอกเบี้ยเงินปันผล ก็เท่ากับว่า ใครที่ลงทุน ได้กำไรก็จะต้องเสียภาษี 2 ต่อนั่นเอง 


ล่าสุด กรมสรรพากรได้เผยแพร่คู่มือการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีของการเสีย ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีความยาวถึง 33 หน้า บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยในคู่มือมีการชี้แจงวิธีการคำนวณเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  การจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี่/โทเคนดิจิทัล , การขุดคริปโตเคอร์เรนซี่, ได้รับคริปโตเคอร์เรนซี่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง, การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี่/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล, การได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี่


โดยในส่วนของการจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล คู่มือระบุว่า การคำนวณภาษีสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และให้คํานวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ซึ่งหากเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วจะต้องใช้การคำนวณนั้นตลอดทั้งปี และจะสามารถเปลี่ยนวิธีการคำนวณรูปแบบใหม่ได้ในปีภาษีถัดไป


ภาพประกอบ : AFP


วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO)

วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) คือการคํานวณต้นทุนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล โดยคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อนตามลําดับ จึงเป็นผลให้รายการคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายเป็นคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาครั้งหลังสุด ยกตัวอย่างเช่น


นายสมชาย ซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 3 ครั้ง

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 20 บาท = 200 บาท

วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ปริมาณ 5 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 8 บาท = 40 บาท

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ปริมาณ 15 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 9 บาท = 135 บาท

และขายคริปโตเคอร์เรนซี 2 ครั้ง


วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 30 บาท = 300 บาท

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ปริมาณ 16 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 10 บาท = 160 บาท

นายสมชาย จะต้องนําเงินได้จํานวน 121 บาท (100+21) ไปรวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ประเภทเงินได้ 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนยอดคงเหลือปริมาณ 4 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 9 บาท ยังไม่ถือเป็นรายได้ของปีภาษี 2564

ภาพประกอบ : AFP 

วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) 

การคำนวณตามวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost)  นายสมชายจะทำได้โดย  การคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล แต่ละประเภทจะกำหนดจากการถัวเฉลี่ยต้นทุนของคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลประเภทเดียวกัน ณ วันต้นปีกับต้นทุนของคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาในระหว่างปี ซึ่งคำนวณทุกครั้งที่ซื้อคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล เช่น

ในปีภาษี 2565 สมชาย เปลี่ยนวิธีคํานวณต้นทุนจากวีธีเข้าก่อนออกก่อนมาเป็นวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ โดยซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 1 ครั้ง ในวันที่ 15 มกราคม 2565 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 16 บาท และขายคริปโตเคอร์เรนซี 1 ครั้ง ในวันที่ 20 มกราคม 2565 ปริมาณ 12 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 17 บาท

ดังนั้น สมชาย จะมีหน้าที่ต้องนําเงินได้จํานวน 36 บาท ไปรวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ประเภทเงินได้ 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และสําหรับยอดคงเหลือปริมาณ 2 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 14 บาท ยังไม่ถือเป็นรายได้ของปีภาษี 2565

ส่วนการคำนวณภาษีจากการขุดนั้น  ให้ใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อนหรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน แต่ผู้ยื่นแบบสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจําเป็นและสมควร เช่น ค่าจ้างพนักงาน  ค่าซ่อมบํารุงคอมพิวเตอร์ ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี


การได้รับคริปโทเคอร์เรนซีนอกจากการซื้อขาย

การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างนั้น ในคู่มือระบุว่า การวัดมูลค่าคริปโทฯทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือ ราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี  ส่วนคริปโทเคอร์เรนซี่/โทเคนดิจิทัลที่ได้จากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัลนั้น ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย เป็นต้น


โดยการวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มาหรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี


ในขณะที่การได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น คู่มือระบุว่า การคำนวณภาษีจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่  โทเคนดิจิทัล และ คริปโทเคอร์เรนซี่ เช่น Yield farming หรือ Staking เป็นต้น

โดยผลประโยชน์จากโทเคนดิจิทัลให้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผลประโยชน์จากการถือครองคริปโตเคอเรนซี่ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร


ทั้งนี้ การวัดมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซี่ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

ภาพประกอบ : AFP,สรรพากร


เข้าไปศึกษาคู่มือการคำนวณภาษีคริปโทเคอร์เรนซี เพิ่มเติมได้ ลิงก์กรมสรรพากร คลิกที่นี่ 


ที่มา : กรมสรรพากร ,siamblockchain 

ภาพประกอบ : AFP



ข่าวที่เกี่ยวข้อง