รีเซต

สนข. ลุยแก้รถติด กทม.-ปริมณฑล เตรียมอัพเกรดถนน 9 เส้น - เล็งเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าเมือง

สนข. ลุยแก้รถติด กทม.-ปริมณฑล เตรียมอัพเกรดถนน 9 เส้น - เล็งเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าเมือง
ข่าวสด
23 พฤศจิกายน 2564 ( 14:30 )
187

สนข. ลุยแก้รถติดกทม. - รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนแม่บทฯ แล้ว โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหา 2 ส่วน ดังนี้

 

แนวทางที่ 1 คือการเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น ด้วยการปรับปรุงแก้ไข และก่อสร้างแนวเส้นทางให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายหลักที่เชื่อมต่อเมืองชั้นนอกเข้าสู่เมืองชั้นใน โดยมีแผนจะปรับปรุง แนวเส้นทางหลัก 9 เส้นทาง ได้แก่ แนววงแหวนรัชดาภิเษก, แนวมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ทางพิเศษศรีรัช, แนวประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน, แนวทางด่วนขั้นที่ 1 อาจณรงค์

 

แนวทางด่วนขั้นที่ 1 พระราม 9-พระราม 2, แนวสะพานตากสิน-ราชพฤกษ์-กัลปพฤกษ์, แนวคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แนวทางพิเศษฉลองรัช-ลำลูกกา และ แนวราชพฤกษ์ ช่วงชัยพฤกษ์ รัตนาธิเบศร์

 

รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ได้แก่ แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา), แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-เทพารักษ์) และ แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (พระราม 9-รามคำแหง-สุวินทวงศ์) โดยการแก้ไขปัญหาจะเน้นในเชิงกายภาพ เช่น การก่อสร้างสะพาน อุโมงค์ ทางยกระดับ สะพานข้ามแยก ทางแยกต่างระดับ เพิ่มผิวจราจร การจัดจราจร การปรับปรุงทางร่วมทางแยก สร้างทางเชื่อมระหว่างถนนและทางพิเศษเพิ่มเติม เป็นต้น

 

รายงานข่าวจาก สนข. กล่าวถึงแนวทางที่ 2 ว่า จะเร่งส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน ประกอบไปด้วย 5 มาตรการ คือการจัดพื้นที่จอดและจร (Park and Ride) ตามแนวขนส่งมวลชน เพิ่มเติม 10 โครงการ, การเพิ่มการเชื่อมต่อด้วยทางข้ามลอยฟ้า (Skywalk) อีก 2 จุด, การเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า (Access road to MRT Station) ศึกษาและก่อสร้างถนนเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ จำนวน 17 เส้นทาง,

 

มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยใช้มาตรการควบคุม เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าพื้นที่ชั้นใน (Road Pricing) การปรับเปลี่ยนอัตราภาษีรถยนต์ และ มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้มาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก เช่น การสนับสนุนระบบขนส่งสายรอง (Feeder) และการปรับเส้นทางการเดินเรือ เป็นต้น ซึ่งแนวทางการลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้า ตามแผนแม่บท M-Map เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง