รีเซต

เจาะลึกคำสั่งฉาว 'ทรัมป์' แบน 'ติ๊กต็อก-วีแชท'

เจาะลึกคำสั่งฉาว 'ทรัมป์' แบน 'ติ๊กต็อก-วีแชท'
มติชน
13 สิงหาคม 2563 ( 14:00 )
81

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ประธานา ธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารโดยอาศัยอำนาจของประธานาธิบดี ตาม รัฐบัญญัติว่าด้วยการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภาวะฉุกเฉิน (The International Emergency Economic Powers Act) ซึ่งจะยังผลให้แอพพลิเคชั่นแลกเปลี่ยนวิดีโอชื่อดังอย่าง “ติ๊กต็อก” และแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมอย่าง “วีแชท” ถูกแบนในสหรัฐอเมริกา

 

เนื้อหาในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีอเมริกัน กำหนดข้อแม้ไว้เพียงว่า แอพพ์ทั้งสองจะไม่ถูกแบนในกรณีที่ตกลงขายกิจการในสหรัฐอเมริกาให้กับบริษัทอเมริกันรายใดรายหนึ่งภายใน 45 วัน

 

ในกรณีที่การขายไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 45 วันดังกล่าว คำสั่งของทรัมป์กำหนดให้ “การทำธุรกรรม” ใดๆ ระหว่าง “บุคคล” ชาวอเมริกันกับบริษัท ไบท์แดนซ์ ผู้เป็นเจ้าของ “ติ๊กต็อก” และ บริษัท เท็นเซนต์ ผู้เป็นเจ้าของ “วีแชท” เป็นการกระทำผิดกฎหมาย มีระวางโทษ ปรับสูงถึง 300,000 ดอลลาร์ต่อการละเมิด 1 ครั้ง และอาจถูกดำเนินคดีทางอาญาเพิ่มเติมได้ ถ้าหากทางการเชื่อว่าการละเมิดดังกล่าวเป็นไปโดย “เจตนา”

 

สิ่งที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ก็คือ คำสั่งนี้ไม่ได้ทำอะไรกับแอพพ์ “ติ๊กต็อก” และ “วีแชท” แต่พุ่งเป้าไปที่การเล่นงานบริษัทที่เป็นเจ้าของแอพพ์ทั้งสองโดยตรงเท่านั้น

 

ทรัมป์อ้างเหตุผล “ด้านความมั่นคงของชาติ” ในการออกคำสั่งดังกล่าว ทั้งเพื่อปกป้อง “ความเป็นส่วนตัว” ของคนอเมริกัน และเพื่อป้องกันภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ เพราะความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของคนอเมริกันจำนวนมากไปนั้น “มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดโอกาสให้จีนแกะรอยติดตามตำแหน่งที่อยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐของสหรัฐอเมริกา และบุคคลที่ทำงานภายใต้สัญญาว่าจ้างกับรัฐของสหรัฐอเมริกา, สามารถนำไปใช้เพื่อแบล๊กเมล์ หรือเพื่อบีบบังคับให้ร่วมมือกระทำจารกรรมได้”

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยอมรับว่า ความวิตกดังกล่าวนี้มีโอกาสเป็นจริงได้ สืบเนื่องจาก กฎหมายว่าด้วยข่าวกรอง แห่งชาติ ฉบับปรับปรุงใหม่ บังคับใช้เมื่อปี 2017 กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า บริษัทจีนทั้งหมดต้องให้ความร่วมมือกับหน่วยงานข่าวกรอง “เมื่อได้รับการร้องขอ” แต่ถามว่า กรณีที่กังวลดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาแล้วหรือไม่ รายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์สอ้างความเห็นของหน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไม่เคยปรากฏ หลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า ไบท์แดนซ์ เคยส่งมอบข้อมูลให้กับทางการจีน

 

ข้อวิตกทั้งหมดจึงเป็นเพียงแค่ “ความเป็นไปได้” เท่านั้นเอง

กระนั้น ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาส่งผลร้ายต่อ ไบท์แดนซ์ กับ เท็นเซนต์ ชนิด “ถึงตาย” ได้เลยทีเดียว

เพราะหลงเหลือทางออกที่ “ต้องเลือก” เพียง 2 ทางภายในวันที่ 21 กันยายนนี้ คือ ขายกิจการในสหรัฐทิ้งไป หรือไม่ก็ยกโขยงออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาไปเท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม คำสั่งประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากการใช้อำนาจในกรณีใหญ่ๆ หลายครั้งที่ผ่านมา คือ หวังแต่ผลเลิศ โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ในทางปฏิบัติให้รอบคอบและรอบด้านเพียงพอ

 

คำสั่งครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการยกระดับ “สงครามเทคโนโลยี” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ฮึ่มๆ กันมานานให้สูงขึ้นกว่าระดับการใช้วาทกรรมตอบโต้ซึ่งกันและกันก่อนหน้านี้ ทรัมป์จำเป็นต้องทำเช่นนี้เพราะนี่คือปีแห่ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีอเมริกันรายนี้เชื่อว่าหนทางเดียวที่จะกลับคืนสู่ทำเนียบขาวได้อีกวาระก็คือ การเล่นงานจีนด้วย “ไม้แข็ง” ที่สุดเท่าที่ จะทำได้ สิ่งที่นักวิเคราะห์วิจารณ์ส่วนหนึ่งเล็งเห็นก็คือ หากยึดเอาคำสั่งมาปฏิบัติตามตรงตามลายลักษณ์อักษรที่ออกมา ไม่เพียง ไบท์แดนซ์ กับ เท็นเซนต์ เท่านั้นจะได้รับความเสียหายสาหัส บริษัทอเมริกันอีกไม่น้อยก็จะสูญเสียครั้งใหญ่ตามไปด้วย

 

ลองพิจารณาดูกรณี ติ๊กต็อก ก่อนเป็นลำดับแรก

ถ้าหากคำสั่งครั้งนี้มีผลบังคับใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับแรกคือ แอพพ์ติ๊กต็อกและ วีแชทจะไม่สามารถอัพเดตซอฟต์แวร์ของ ตัวเองได้อีกต่อไป ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ติ๊กต็อกและวีแชทจะทำงานบนสมาร์ทโฟน ไม่ได้ นานเข้าก็จะเปิดเข้าใช้งานไม่ได้

 

ในเวลาเดียวกัน ผลจากคำสั่งนี้จะทำให้การโฆษณาในแอพพ์ทั้งสองเป็นไปไม่ได้ในทั้งสองทาง ทั้งบริษัทอเมริกันที่ต้องการโปรโมตสินค้าของตนให้กับชาวจีนและบริษัทจีนที่ต้องการโปรโมตสินค้าให้กับคนอเมริกัน

 

ทั้งยังบีบให้ กูเกิลและแอปเปิล อาจจำเป็นต้องลบการนำเสนอแอพพ์ทั้งสองตัวใน แอพพ์สโตร์ หรือเพลย์สโตร์ ออกไป หากถือว่านี่คือ “ธุรกรรม” อย่างหนึ่งกับบริษัทจีนทั้งสอง

 

ลูกจ้างของ ติ๊กต็อก ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่มากกว่า 1,000 คน ไม่สามารถรับ “เงินเดือน” ที่เป็นค่าจ้างงานของตนได้เหมือนอย่างที่เคยทำได้ แม้แต่สำนักงานของติ๊กต็อก หากเป็นสำนักงานที่ต้องเช่า ผู้เป็นเจ้าของอาคารอาจจำเป็นต้องยกเลิกการเช่า เพราะ ไม่สามารถทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทได้อีกต่อไป การฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายจะผุดขึ้นตามมาเป็นดอกเห็ด! ทั้งๆ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย

 

กรณีของ เท็นเซนต์ ยิ่งหนักหนาสาหัสและยุ่งเหยิงยิ่งกว่า ด้วยเหตุที่ว่า ทรัมป์จ้องเล่นงานเท็นเซนต์โดยเฉพาะ ไม่ได้เล่นงานวีแชทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

เท็นเซนต์ ไม่ได้เป็นบริษัทเล็กๆ ที่เป็นเจ้าของเพียงแค่แอพพลิเคชั่นตัวเดียวเท่านั้น ตรงกันข้าม นี่คือกิจการในระดับโลก มูลค่าการตลาดของบริษัท ณ เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์

 

เท็นเซนต์ เข้าไปถือหุ้นอยู่ในกิจการ มากมาย ตั้งแต่ระบบชำระเงินอิเล็ก ทรอนิกส์ “อาฟเตอร์เปย์” ในออสเตรเลีย ไปจนถึงกิจการเพื่อการลงทุน เคเคอาร์ ในสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถือหุ้นอยู่มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ใน เอพิคเกมส์ บริษัทพัฒนาเกมสัญชาติอเมริกันที่ตั้งอยู่ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา เป็นต้น

 

เท็นเซนต์ยังเป็นเจ้าของกิจการ สตรีมมิง ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี ที่มีสมาชิกในสหรัฐอเมริกาไม่น้อยเลยทีเดียว และเป็นบริษัทคู่สัญญากับสมาคมบาสเกตบอล แห่งชาติสหรัฐอเมริกาเจ้าของลิขสิทธิ์ “เอ็นบีเอ” และวอร์เนอร์มิวสิกกรุ๊ป

 

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากคำสั่งของทรัมป์มีผลบังคับใช้ สัญญาเหล่านี้ การเป็นสมาชิก การถือครองหุ้นเหล่านี้ จะสามารถเคลียร์กันได้หรือไม่ การดำเนินการทางกฎหมายเพื่อการนี้จะวุ่นวาย ยุ่งเหยิงและ “แพงระยับ” เพียงใด

 

นั่นคือความโกลาหลวุ่นวายอันเป็นผลข้างเคียงในระยะสั้นจากคำสั่งของทรัมป์ครั้งนี้

ในระยะยาว นี่คือจุดเริ่มต้นของ “เทควอร์” ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่จะขับเคี่ยวตอบโต้กันอย่างถึงพริกถึงขิงต่อไปในอนาคต

เมื่อปี 2018 เอริค ชมิดท์ อดีตซีอีโอ ของกูเกิล เคยให้ความเห็นเป็นเชิง “ทำนาย” เอาไว้ในงานไพรเวต อีเวนต์ที่จัดโดย “วิลเลจ โกลบอล วีซี” บริษัทเพื่อการลงทุนอเมริกัน ถึงสภาพของโลกอินเตอร์เน็ตในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

เขาบอกว่า ภายใน 10 ปี อินเตอร์เน็ตจะถูกแบ่งออกเป็นสอง แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อินเตอร์เน็ตหนึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา อีกอินเตอร์เน็ตอยู่ภายใต้การนำของสาธารณรัฐประชาชนจีน

เพียงแค่ 2 ปีหลังการทำนายครั้งนั้น เราได้เห็นจุดเริ่มต้นของมันกับตาแล้ว!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง