ชาวนาโคราช ทยอยเดินทางรับเงินประกันรายได้ปลูกข้าวนาปี
ภายหลัง ครม. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 (รอบที่ 1) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา และ kick off จ่ายเงินเข้าบัญชีชาวนา ผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ , ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ , ข้าวเปลือกเจ้า , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว โดยชาวนาจะได้ส่วนต่างเงินประกันรายได้ข้าวจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับปริมาณการแจ้งปลูกไว้ตอนขึ้นทะเบียน และการจ่ายก็ไม่เกินจำนวนตันที่รัฐระบุไว้ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าว
ซึ่งบรรยากาศเช้าวันนี้ (17 พฤศจิกายน 2563) ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขานครราชสีมา พบว่า มีเกษตรกรที่เป็นชาวนา ทยอยเดินทางมาติดต่อสอบถามและเช็คข้อมูลการจ่ายเงินประกันรายได้ โดยนายอัฏฐพล ศรีพุทธางกูร ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขานครราชสีมา เปิดเผยว่า วานนี้ (16 พฤศจิกายน 2563) เป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ตามประกาศราคากลางอ้างอิงที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกร ได้ออกประกาศไว้แล้วครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการ
ซึ่งในพื้นที่ดูแลของ ธ.ก.ส. สาขานครราชสีมา มีเกษตรกร (ชาวนา) ที่ขึ้นทะเบียนรอบแรก เอาไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร มีจำนวน 537 ราย เป็นวงเงินประกันรายได้ 4,952,242.33 บาท ในขณะที่ภาพรวมทั้งจังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรชาวนาขึ้นทะเบียนรอบแรกไว้ทั้งหมด 27,682 ราย เป็นวงเงินกว่า 298,879,793 บาท โดยส่วนใหญ่จะมีเกษตรกรชาวนาไปติดต่อขอรับเงินประกันรายได้ปลูกข้าวที่ ธ.ก.ส.สาขาต่างอำเภอ หรือพื้นที่รอบนอกมากกว่า เพราะพื้นที่ปลูกข้าวนาปีส่วนใหญ่จะอยู่เขตรอนบนอก มากกว่าเขตในเมือง
โดยเกษตรกรจะได้เงินชดเชยส่วนต่างราคาประกันข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2,911.17 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน หรือเป็นเงินไม่เกิน 40,756.38 บาท , ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,137.45 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตันหรือเป็นเงินไม่เกิน 34,199.20 บาท , ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 1,222.36 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน หรือเป็นเงินไม่เกิน 36,670.80 บาท , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,066.96 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน หรือเป็นเงินไม่เกิน 26,674 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,084.34 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน หรือเป็นเงินไม่เกิน 33,349.44 บาท ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกร จะประกาศราคาอ้างอิงทุกๆ 7 วัน จนถึงวันสิ้นสุดโครงการฯ
ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย จากนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิด คูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect นายอัฏฐพลฯ กล่าว
รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม
สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE