กนย.จ่อเสนอ ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง เฟส 3 คาดใช้งบกว่า 1 หมื่นล้าน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ระยะประกันรายได้ตั้งแต่ ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% และคนกรีด 40% ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยหลังจากนี้ กนย.จะเสนอหลักการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆนี้ต่อไป
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกำหนดราคาประกันรายได้ ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. รวมวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ภายในวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 1,880,458 ราย
นายณกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กยท.ได้ออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง (ฉบับที่ 2) ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางที่แจ้งพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. (บัตรชมพู) จำนวน 456,061 ราย พื้นที่สวนยาง 6,437,373 ไร่ ให้สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดไว้ ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกรชาวสวนยางติดตามรายละเอียดของประกาศ และเอกสารแนบท้ายประกาศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ โดย กยท. จะแจ้งรายละเอียดการดำเนินการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรในภายหลัง
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันฯ ระยะที่ 2 สามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้ทั้งหมด 1,466,427 ราย คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 7.54 พันล้านบาท ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ให้ได้เงินส่วนต่างของรายได้ที่ควรได้รับ ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต