รีเซต

'กรมประมง'​ แจงแนวทางปฎิบัติช่วงเคอร์ฟิว​ หวังสร้างความเข้าใจ ชาวประมง-ผู้เลี้ยงสัตว์​น้ำ

'กรมประมง'​ แจงแนวทางปฎิบัติช่วงเคอร์ฟิว​ หวังสร้างความเข้าใจ ชาวประมง-ผู้เลี้ยงสัตว์​น้ำ
มติชน
9 เมษายน 2563 ( 21:36 )
51
'กรมประมง'​ แจงแนวทางปฎิบัติช่วงเคอร์ฟิว​ หวังสร้างความเข้าใจ ชาวประมง-ผู้เลี้ยงสัตว์​น้ำ

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและได้ออกข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 เมษายน ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านต่างๆ อาทิ การแพทย์ การธนาคาร การขนส่งและสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงตลอดภาคการผลิต อาทิ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการ และชาวประมง เข้าใจและมีแนวทางในการประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องตามเจตนารมย์ของรัฐบาล ที่ต้องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ภายในประเทศ โดยในส่วนของผู้ประกอบอาชีพทางการประมงที่จะได้รับการยกเว้นให้ออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว

นายบัญชา กล่าวว่า มีแนววิธีปฏิบัติที่เป็นไปตามข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) ข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย และข้อสั่งการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ การประกอบอาชีพทางการประมงตลอดสายการผลิตที่จำเป็นจะต้องออกนอกเคหสถานไปประกอบอาชีพทางการประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนช่วงเวลาได้ ต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจประจำท้องที่ ก่อน

สำหรับ การขนส่งผลผลิตทางการประมง สินค้าประมง เพื่อนำเข้าหรือส่งออก หรือส่งข้ามเขตพื้นที่หรือข้ามจังหวัด แบ่งได้ 3 กรณี คือ 1.กรณีการขนส่งของภาคเอกชน จะต้องมีหนังสือรับรองบุคคล โดยให้ผู้ประกอบการ/นายจ้าง

เป็นผู้ออกหนังสือรับรองให้กับผู้เดินทาง 2.กรณีการขนส่งของผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่ขนส่งผลผลิตด้วยตนเอง หรือกรณีจำเป็นต้องให้ทางราชการออกหนังสือรับรอง ให้เจ้าหน้าที่กรมประมงออกหนังสือรับรองให้ โดยให้เร่งรัด และ 3.กรณีการขนส่งสัตว์น้ำของหน่วยงานกรมประมง ให้ปฏิบัติตามแนวทางของภาคเอกชน คือ ต้องมีหนังสือรับรอง ซึ่งออกโดยหัวหน้าหน่วยงานต้นสังกัด

นายบัญชา กล่าวว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ เป็นเพียงแนวปฏิบัติโดยภาพรวมที่แจ้งเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบอาชีพทางการประมงตลอดสายการผลิตที่มีความจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ หากจังหวัดใดมีมาตรการใดที่เข้มงวดหรือหลักปฎิบัติที่เป็นข้อปฏิบัติต้องยึดปฏิบัติตามข้อสั่งการของพื้นที่เป็นหลักเพื่อความเหมาะสมของการบริหารจัดการในแต่พื้นที่ด้วย สุดท้าย กรมประมงพร้อมที่จะช่วยเหลือ แก้ปัญหา อยู่เคียงข้างกับทุกคน ขอให้กำลังใจให้ทุกคนอดทน และสู้กับวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง