รีเซต

เปิด 3 ขั้นตอนกำจัดเชื้อรา หลังบ้านน้ำท่วมปลอดภัยไร้เชื้อโรค

เปิด 3 ขั้นตอนกำจัดเชื้อรา หลังบ้านน้ำท่วมปลอดภัยไร้เชื้อโรค
TNN ช่อง16
22 สิงหาคม 2565 ( 09:00 )
74

วันนี้ ( 22 ส.ค. 65 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากอิทธิพลพายุมู่หลาน ที่พัดกระหน่ำจังหวัดเชียงราย ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับความเสียหายผลจากน้ำกัดเซาะ พื้นที่นาของชาวเกษตรกรได้รับผลกระทบ ทำให้น้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมกลับคืนสู่สภาวะปกติ ประชาชนควรเร่งทำความสะอาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะต่าง ๆ รวมถึงสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร อาทิ ตลาดสด ร้านอาหาร มินิมาร์ท  ที่ได้รับผลกระทบ เพราะในช่วงน้ำท่วมจะพัดพาสิ่งสกปรกมาจากทุกสารทิศ ทั้งโคลนตม ขยะ วัสดุ สิ่งของต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการหมักหมม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของโรคได้ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชน 

 จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย ด้วยการรื้อและล้างให้สะอาดปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล  เพราะหากปล่อยไว้นาน จะกลายเป็นแหล่งสะสมและแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อราที่พบได้หลังน้ำลด   ตามบริเวณพื้น ฝาผนัง วอลล์เปเปอร์ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน หมอน พรม รวมถึงตู้แช่อาหาร ตู้เย็น จำเป็นต้องได้รับ  การรื้อและล้างทำความสะอาดอย่างเร่งด่วน ส่วนตู้ไม้ที่ชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้อีก ควรรวบรวมไว้  ในแหล่งเดียวกัน เพื่อรอการกำจัดจากหน่วยงานราชการต่อไป

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ก่อนเข้าไปในบ้านต้องสำรวจตรวจสอบความเสียหาย และมั่นใจว่าโครงสร้างของบ้านมีความมั่นคงแข็งแรง เมื่อเข้าไปแล้วให้เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดกลิ่นเหม็นอับ ห้ามเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศขณะทำความสะอาดบ้าน หรือขณะกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้สปอร์เชื้อรา  ฟุ้งกระจาย นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในเครื่องใช้ เครื่องเรือน เครื่องนอน และเฟอร์นิเจอร์  เช่น ฟูกที่นอน หมอน พรม เป็นประจำ ด้วยการนำไปตากแดด ส่วนวอลล์เปเปอร์หรือฉนวนกันความร้อนที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ต้องนำไปทิ้งในถุงที่ปิดมิดชิดโดยทันที เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อรา

“ทั้งนี้ ก่อนการทำความสะอาดและกำจัดเชื้อราในบ้าน ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย สวมหน้ากาก ถุงมือยาง และรองเท้าบูททุกครั้ง ซึ่งการจัดการเชื้อราในบ้านทำได้ 3 ขั้นตอน คือ 

1.พื้นผิววัสดุที่พบเชื้อราให้ใช้กระดาษทิชชู แผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์พรมน้ำให้เปียกเล็กน้อย เช็ดพื้นผิว   ไปในทางเดียว แล้วนำกระดาษทิชชูหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ทิ้งลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด 

2.ใช้กระดาษทิชชูแผ่นหนาและขนาดใหญ่ หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำผสมสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เช็ดซ้ำในจุดที่มีเชื้อราอีกครั้ง   

3.ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา เช่น น้ำส้มสายชู 5–7 เปอร์เซ็นต์ หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 60-90 เปอร์เซ็นต์
เช็ดทำความสะอาด เพื่อเป็นการทำลายเชื้อในขั้นตอนสุดท้าย โดยผู้ทำความสะอาดต้องหยุดพักสูดอากาศบริสุทธิ์ ทุก 1-2 ชั่วโมง อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหลังจากการล้างบ้านและกำจัดเชื้อรา เพื่อความปลอดภัย  และสุขอนามัยดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ข้อมูลจาก  :  กรมอนามัย

ภาพจาก  :   AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง