รีเซต

โควิด-19 : เหตุใดการห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าของจีนอาจไม่ช่วงคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าได้จริง

โควิด-19 : เหตุใดการห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าของจีนอาจไม่ช่วงคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าได้จริง
บีบีซี ไทย
13 เมษายน 2563 ( 16:35 )
117
โควิด-19 : เหตุใดการห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าของจีนอาจไม่ช่วงคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าได้จริง

บรรดาองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่จีนออกคำสั่งห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าแบบถาวรนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่า เพราะยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่อนุญาตให้สามารถค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าเพื่อใช้ทำยาจีนแผนโบราณ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับได้

 

กลุ่มนักอนุรักษ์ชี้ว่า ข้อยกเว้นเหล่านี้จะทำให้ยังมีการซื้อขายเนื้อสัตว์ป่าในประเทศจีนต่อไป โดยเฉพาะในตลาดมืด

 

ทางการจีนได้มีคำสั่งห้ามการค้าสัตว์ป่าเพื่อบริโภคเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังสงสัยว่าการค้าสัตว์ป่าที่ตลาดสดในเมืองอู่ฮั่น จะเป็นต้นตอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ขณะนี้ได้ลุกลามไปทั่วโลกส่งผลให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

 

ความเชื่อในยาจีนแผนโบราณ

 

ข้อห้ามดังกล่าวมีข้อยกเว้นที่เปิดช่องให้ยังสามารถค้าชิ้นส่วนของสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น ตัวนิ่ม และเสือดาว เพื่อจุดประสงค์ในการทำยาจีนแผนโบราณได้

 

นายเทอร์รี ทาวน์เชนด์ ที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์นก Birding Beijing ในประเทศจีน กล่าวว่า "แม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ถึงสรรพคุณทางยาของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า แต่ความเชื่อเรื่องนี้ได้ฝังรากลึกในหมู่คนจีน"

 

นายทาวน์เชนด์ เล่าว่าแม้แต่ชาวจีนในครอบครัวที่มีการศึกษาดีที่เขารู้จัก ยังหันไปพึ่งพายาแผนโบราณที่ทำจากเกล็ดตัวนิ่มเพื่อช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยาก ทั้งที่ชาวจีนผู้นี้ทราบดีว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวก็ตาม

 

 

ความต้องการใช้ทำยาจีนแผนโบราณนี้เอง ส่งผลให้ตัวนิ่มแทบจะสูญพันธุ์ในจีน และปัจจุบันมันได้กลายเป็นสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบค้ามากที่สุดในโลก

 

งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบหลักฐานบ่งชี้ว่าตัวนิ่มอาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันว่าตัวนิ่มเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

Hope/Jenny Tang

ฟาร์มสัตว์ป่าเพื่อเอาขน

ข้อมูลจากการศึกษาของวิศวกรรมบัณฑิตยสถานแห่งจีน เมื่อปี 2017 ระบุว่า เกือบ 75% ของอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ป่าในจีน มีเป้าหมายเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ต่าง ๆ โดยสัตว์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมนี้ได้แก่ ตัวมิงค์ หรือเพียงพอน, หมาแรคคูน หรือ ทานูกิ และหมาจิ้งจอก

 

เป่ย์ เอฟ ซู ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง ActAsia องค์กรรณรงค์ต่อต้านอุตสาหกรรมขนและหนังสัตว์ที่ได้จากสัตว์ป่าที่ถูกเพาะขยายพันธุ์ในที่คุมขังในจีน กล่าวว่า "ในปี 2018 มีสัตว์ป่าราว 50 ล้านตัว ถูกเพาะพันธุ์และฆ่าเพื่อเอาขนในประเทศจีน"

 

"หมาแรคคูน, ตัวมิงค์ และหมาจิ้งจอก ที่ถูกเพาะพันธุ์ในที่คุมขังเพื่อขายขนและหนังนั้น ก็ถูกเอาเนื้อไปขายเพื่อการบริโภคด้วย"

 

บรรดานักวิชาการต่างเห็นด้วยว่ามีช่องโหว่ของกฎหมายอยู่

ดร.เจียง จิน ซ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่า "เนื่องจากผลิตภัณฑ์ขนสัตว์มีสัดส่วนกว่า 3 ใน 4 ของการค้าสัตว์ป่า ดังนั้นหากไม่มีการห้ามการค้าขนสัตว์อย่างสิ้นเชิง เราก็แทบจะไม่ได้แก้ปัญหาการใช้สัตว์ป่าในเชิงพาณิชย์เลย"

 

การศึกษาเมื่อปี 2012 พบว่า ผู้ค้าที่เพาะพันธุ์เสือเพื่อเอาหนังอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยังลักลอบขายกระดูกเสือเพื่อใช้ทำยาและใช้ดองเหล้าด้วย

 

ActAsia

 

ข้อห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าของจีนยังมีข้อยกเว้นเรื่องการค้าสัตว์ป่าเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับด้วย นั่นหมายความว่า แม้จะเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะซื้อขายเนื้อตัวนิ่ม แต่เล็บของมันยังสามารถซื้อขายได้ในฐานะสินค้าประเภทเครื่องประดับ เช่นเดียวกับเกล็ดที่ใช้ในการทำยาจีนแผนโบราณ

 

ฟาร์มรีดดีหมี

นอกจากจะมีการทำฟาร์มสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น งูเหลือม, จระเข้ แล้ว จีนยังมีฟาร์มเพาะพันธุ์ หมี, ซาลาแมนเดอร์ และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ด้วย กลุ่มนักอนุรักษ์ระบุว่า ในจีนมีการทำฟาร์มหมีเกือบ 30,000 แห่ง

 

หมีที่อยู่ในฟาร์มเหล่านี้จะถูกขังไว้ในกรงแคบ ๆ น้ำดีของมันจะถูกรีดจากถุงน้ำดีโดยใช้ท่อโลหะสอดผ่านช่องที่ถูกเจาะบริเวณหน้าท้องของหมี ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่สร้างความเจ็บปวดและทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้หมีตายได้

 

ในขณะที่การทำฟาร์มเพื่อเอาดีหมีไปทำยาจีนแผนโบราณ สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า รายงานว่าเจ้าของธุรกิจเดียวกันนี้ยังลักลอบขายอวัยวะอื่น ๆ ของหมีเพื่อการบริโภคด้วย

 

เมนูเปิบพิสดารอย่าง "อุ้งตีนหมีตุ๋นยาจีน" ถือเป็นของดีราคาแพงในหลายพื้นที่ของประเทศจีน การศึกษาของวิศวกรรมบัณฑิตยสถานแห่งจีน ประเมินว่า อุตสาหกรรมฟาร์มหมีในจีนทำให้มีการจ้างงานกว่า 14 ล้านตำแหน่ง และมีมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ก็ทำให้ความอยากรับประทานอาหารจากสัตว์ป่าหายากในจีนเปลี่ยนแปลงไป

ค่านิยมการกินอาหารป่าที่เปลี่ยนแปลงไป

 

การสำรวจความเห็นในจีนที่ทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยปักกิ่งและอีก 7 องค์กร เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าชาวจีนส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านการบริโภคสัตว์ป่าหายาก

 

ราว 97% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็น 101,000 คน บอกว่าพวกเขาคัดค้านการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า และส่วนใหญ่สนับสนุนคำสั่งห้ามการค้าเนื้อสัตว์ป่าของทางการจีน

 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายชี้ว่า ผลการสำรวจครั้งนี้อาจไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นของคนจีนส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะเป็นการสำรวจออนไลน์และทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 19 - 30 ปี

 

 

คนรุ่นใหม่ที่บีบีซีได้พูดคุยด้วยส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับผลสำรวจดังกล่าว

จี (นามสมมุติ) วัย 21 ปี นักศึกษาปีสุดท้ายจากกรุงปักกิ่ง บอกว่า "เพื่อนของฉันจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่างเคยถูกครอบครัวชักชวนให้ทานอาหารป่า เช่น หูฉลาม, งู หรือตะพาบน้ำ เพราะมีความเชื่อว่าสัตว์เหล่านี้มีสรรพคุณพิเศษ"

 

"แต่หลังจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดครั้งนี้ น่าจะมีคนหนุ่มสาวหันหลังให้ค่านิยมโบราณในการรับประทานสัตว์ป่ากันมากขึ้น" จี กล่าว

 

คำสั่งห้ามครั้งนี้จะได้ผลหรือไม่

เมื่อปี 2003 รัฐบาลจีนเคยสั่งห้ามการค้าสัตว์ป่ามาแล้ว หลังจากเกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส ระบาดในประเทศ แต่ก็ผ่อนคลายข้อห้ามดังกล่าวภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนต่อมา

 

ในครั้งล่าสุดนี้ นักอนุรักษ์มองว่ามีความคืบหน้าที่ดีขึ้น อู่ฮั่น ลี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ศึกษานโยบายด้านสัตว์ป่าของจีนหลังโรคโควิด-19 ระบาด กล่าวว่า

"ตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลจีนได้สอบสวนคดีลักลอบค้าสัตว์ป่ากว่า 600 คดี และหวังว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันตามปกติต่อไป"

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งชี้ว่า การมีข้อยกเว้นเรื่องการค้าสัตว์ป่าเพื่อจุดประสงค์ในการทำยา ใช้ขน และใช้เป็นเครื่องประดับ จะส่งเสริมให้มีการค้าเนื้อสัตว์ป่าเพื่อการบริโภค

 

พวกเขาเห็นว่านี่คือช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่จะนำไปสู่ปัญหารุนแรงต่อไป และเป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนควรเร่งแก้ไข โดยชี้ว่า นอกจากจะห้ามการบริโภคสัตว์ป่าแล้ว ก็ควรมีการทบทวนกฎหมายเพื่อป้องกันการค้าสัตว์ป่าในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการค้าบนดินหรือใต้ดินก็ตาม

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง