รีเซต

นครทองคำ หายสายสูญ 3,000 ปี อียิปต์พบเข้าระหว่างค้นหาวิหารฟาโรห์

นครทองคำ หายสายสูญ 3,000 ปี อียิปต์พบเข้าระหว่างค้นหาวิหารฟาโรห์
ข่าวสด
10 เมษายน 2564 ( 03:49 )
258
นครทองคำ หายสายสูญ 3,000 ปี อียิปต์พบเข้าระหว่างค้นหาวิหารฟาโรห์

นครทองคำ หายสายสูญ - ซินหัว รายงาน คณะนักโบราณคดีของอียิปต์ร่วมกับสภาโบราณวัตถุแห่งอียิปต์ (SCA) ประกาศการค้นพบนครทองคำที่หายสาบสูญ” (Lost Gold City) ที่มีความเก่าแก่ถึง 3,000 ปี โดยพบอยู่ใต้ผืนทราย ในเมืองลักซอร์ เมืองที่มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่งของอียิปต์

 

 

นครทองคำ หายสายสูญ แห่งนี้มีชื่อว่าเดอะ ไรส์ ออฟ อาเทน” (The Rise of Aten) มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยการปกครองของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) จนถึงสมัยฟาโรห์ตุตันคาเมน

คณะนักโบราณคดีกลุ่มนี้นำโดย ซาฮี ฮาวาสส์ นักโบราณคดีชาวอียิปต์ผู้มีชื่อเสียง ซึ่งนายฮาวาสส์แถลงว่า คณะนักโบราณคดีชาวต่างชาติจำนวนมากขุดค้น พื้นที่แห่งนี้ เพื่อค้นหาวิหารฝังศพของตุตันคาเมน เนื่องจากขุดพบวิหารของฟาโรห์โฮเรมเฮบ (Horemheb) และฟาโรห์ไอย์ (Ay) ที่นี่ และพบนครทองคำเข้า

 

ซากโบราณสถานของเมืองทองคำที่หายสาบสูญ ในเมืองลักซอร์ของอียิปต์ วันที่ 8 เม.ย. 2021 / Xinhua

 

ฮาวาสส์ระบุว่านครทองคำถือเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่สุดที่ขุดพบในอียิปต์ เป็นนครที่สถาปนาขึ้นโดยฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของอียิปต์ และเป็นฟาโรห์ลำดับที่ 9 ของราชวงศ์ที่ 18 ที่ปกครองอียิปต์ระหว่าง 1391-1353 ปี ก่อนคริสต์ศักราช

 

ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 4 หรือแอเคนาเทน (Akhenaten) โอรสของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ปกครองเมืองแห่งนี้ร่วมกับพระราชบิดาเป็นเวลา 8 ปี

 

นครทองคำแห่งนี้มีพื้นที่สิ่งก่อสร้างด้านการปกครองและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในยุคจักรวรรดิอียิปต์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของเมืองลักซอร์

 

เครื่องปั้นดินเผาซึ่งขุดค้นพบที่เมืองทองคำที่หายสาบสูญ ในเมืองลักซอร์ของอียิปต์ วันที่ 8 เม.ย. 2021 / Xinhua

 

ฮาวาสส์กล่าวว่าคณะนักโบราณคดีขุดพบถนนย่านเมืองบางส่วนที่มีบ้านเรือนขนาบสองข้างทาง และมีกำแพงสูงถึง 3 เมตร หลังเริ่มปฏิบัติภารกิจขุดค้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ค้นพบเมืองสภาพสมบูรณ์แห่งหนึ่ง

ทั้งกำแพงล้อมรอบเมืองเกือบสมบูรณ์ ทั้งห้องหลายห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยโบราณ

 

วัตถุโบราณซึ่งขุดค้นพบที่เมืองทองคำที่หายสาบสูญ ในเมืองลักซอร์ของอียิปต์ วันที่ 8 เม.ย. 2021 / Xinhua

 

การค้นพบเมืองที่หายสาบสูญครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหญ่เป็นอันดับสองของอียิปต์ หลังจากการค้นพบสุสานตุตันคาเมนเบตซี ไบรอัน ศาสตราจารย์ด้านอียิปต์วิทยา จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ของสหรัฐอเมริกา กล่าว

 

ไบรอันกล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้คำตอบแก่ปริศนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือเหตุใดฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 4 และราชินีเนเฟอร์ติติ จึงตัดสินพระทัยย้ายเมืองหลวงไปยังอมาร์นา (Amarna) แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ อันเป็นที่ตั้งของซากโบราณสถานของเมืองหลวงที่สถาปนาขึ้นช่วง 1346 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งสร้างขึ้นโดยฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 4 ในช่วงปลายราชวงศ์ที่ 8

 

โครงกระดูกมนุษย์ซึ่งขุดค้นพบที่เมืองทองคำที่หายสาบสูญ ในเมืองลักซอร์ของอียิปต์ วันที่ 8 เม.ย. 2021 / Xinhua

 

พื้นที่ขุดค้นพบนั้นตั้งอยู่ระหว่างวิหารของฟาโรห์รามเสสที่ 3 ที่วิหารเมดินาทฮาบู (Medinet Habu) และวิหารของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ที่อนุสาวรีย์แห่งเมมนอน (Memnon)

แถลงการณ์ระบุว่าเป้าหมายแรกของคณะนักโบราณคดีคือระบุช่วงเวลาการก่อตั้งเมืองแห่งนี้ โดยแถลงการณ์ยังระบุถึงจารึกอักษรอียิปต์โบราณ ซึ่งพบบนฝาดินเหนียวของภาชนะบรรจุไวน์ด้วย

 

การค้นพบครั้งนี้ประกอบด้วยพระราชวังของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 จำนวน 3 แห่ง และศูนย์กลางด้านการบริหารปกครองและอุตสาหกรรมของจักรวรรดิ โดยพิจารณาตามลักษณะทางประวัติศาสตร์

ฮาวาสส์กล่าวว่าแหวน แมลงปีกแข็ง ภาชนะดินเผาสี และอิฐโคลนประทับลวดลายคาทูช (cartouche) ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3 ซึ่งค้นพบระหว่างการขุดค้น ช่วยยืนยันความเก่าแก่ของเมืองนี้

 

โครงกระดูกของสัตว์ซึ่งขุดค้นพบที่เมืองทองคำที่หายสาบสูญ ในเมืองลักซอร์ของอียิปต์ วันที่ 8 เม.ย. 2021 / Xinhua

 

ส่วนทางใต้ของเมือง คณะนักโบราณคดีพบร้านขายขนมปัง พื้นที่จัดเตรียมและปรุงอาหาร พร้อมด้วยเตาอบและภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ฮาวาสส์กล่าวว่าเมื่อพิจารณาจากขนาดจึงระบุได้ว่าห้องครัวนี้สามารถรองรับคนงานได้เป็นจำนวนมาก

ด้านพื้นที่ส่วนที่สองของเมือง ซึ่งบางส่วนยังไม่ได้รับการขุดค้นนั้น คาดว่าเป็นเขตการปกครองและเขตที่อยู่อาศัยซึ่งมีพื้นที่ที่ถูกจัดแบ่งเป็นอย่างดีและมีพื้นที่มากกว่า ทั้งยังมีการล้อมรั้วด้วยกำแพงเป็นแนวฟันปลาและมีทางผ่านเข้าออกสู่พื้นที่ชั้นในและพื้นที่อยู่อาศัยเพียงแค่จุดเดียว

ฮาวาสส์เสริมว่ากำแพงทรงฟันปลาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่พบเห็นได้ยากในสถาปัตยกรรมอียิปต์โบราณ โดยส่วนใหญ่มักพบเห็นในช่วงปลายราชวงศ์ที่ 18

 

หุบเขาเมืองลักซอร์ / An aerial view of the Valley with its farmland and houses as seen through the window of an airplane, in Luxor, south of Cairo, Egypt April 9, 2021. REUTERS/Amr Abdallah Dalsh

 

ขณะพื้นที่ส่วนที่สามเป็นโรงผลิตซึ่งมีพื้นที่ผลิตอิฐดินสำหรับใช้สร้างวิหารและอาคาร โดยอิฐดินเหล่านี้ประทับลวดลายคาทูชของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 3

ฮาวาสส์ทิ้งท้ายว่าคณะนักโบราณคดียังค้นพบเครื่องมือหลายประเภทซึ่งใช้ในการปั่น ถักทอ และยังพบตะกรัน (slag) สำหรับผลิตแก้ว และกำลังสืบสวนเรื่องการค้นพบจุดฝังศพที่ผิดปกติของวัวหรือกระทิงตัวหนึ่งในห้องแห่งหนึ่ง รวมถึงจุดฝังศพของบุคคลหนึ่งที่แขนทั้งสองของเขายื่นออกไปด้านข้างและมีเศษเชือกอยู่พันรอบหัวเข่า

 

.............

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง