รีเซต

เจ้าสัว 'ธนินท์' ส่งมอบหน้ากากอนามัยล็อตแรก แนะเตรียมแผนศก.เชิงรุกฟื้นท่องเที่ยว-ส่งออกหลังโควิดจบ

เจ้าสัว 'ธนินท์' ส่งมอบหน้ากากอนามัยล็อตแรก แนะเตรียมแผนศก.เชิงรุกฟื้นท่องเที่ยว-ส่งออกหลังโควิดจบ
มติชน
16 เมษายน 2563 ( 16:20 )
296
1

16 เมษายน 2563 – นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ ผู้อำนวยการศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือฯ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯ พร้อมคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ และผู้บริหารเครือซีพีเข้าเยี่ยมชม “โรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย” ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเปิดสายการผลิตหน้ากากอนามัยเป็นวันแรก รวมทั้งเครือซีพีได้ทำการส่งมอบหน้ากากอนามัยจำนวน 100,000 ชิ้นให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ

 

 

นายธนินท์กล่าวว่า รู้สึกยินดีและมีความสุขมากที่เครือซีพีสามารถสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนได้ภายในเวลา 5 สัปดาห์ ซีพีเห็นความสำคัญว่าสถานการณ์ขณะนี้ต้องเร่งปกป้องแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีพลังที่จะปกป้องประชาชน ดังนั้นจึงสำคัญมากที่ต้องผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยจะเป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยส่งต่อไปยังทุกโรงพยาบาลในประเทศและส่วนที่เหลือจึงแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปฟรี โดยกำลังการผลิตปัจจุบันตั้งเป้าคือวันละ100,000 ชิ้น หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยเป็นโรงงานอัตโนมัติใช้ผู้ควบคุมในโรงงานเพียง 3 คน เพื่อให้เป็นโรงงานที่ปลอดเชื้อโรคสูงสุดสามารถผลิตได้ 24 ชั่วโมง

 

 

ประธานอาวุโสเครือซีพี กล่าวว่า เครือฯดำเนินการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยบนพื้นฐานค่านิยม 3 ประโยชน์ที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในภาวะที่ประเทศเผชิญวิกฤตหากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้แพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ต้องรับภาระสูงสุด ดังนั้นซีพีเห็นว่าหน้ากากอนามัยถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันสำคัญในวิกฤตนี้ไม่ให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดลุกลามจนโรงพยาบาลต้องรับภาระหนัก “ซีพี ทำธุรกิจในแผ่นดินไทย ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่เครือฯจะได้รับใช้แผ่นดินไทยในยามวิกฤตช่วยผลิตหน้ากากอนามัยให้กับแพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์”

 

ประธานอาวุโสเครือซพียังกล่าวอีกว่า “แพทย์พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์คนกลุ่มนี้ปฏิบัติงานเสี่ยงชีวิตไม่ต่างกับทหารที่อยู่หน้าสนามรบเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทเอาชีวิตมาเสี่ยง ผมยกย่องและประทับใจมาก วันนี้ถือเป็นหน้าที่คนไทยที่ต้องช่วยกันอยู่บ้าน ไม่จำเป็นอย่าออกมาให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับโรงพยาบาลและแพทย์ วิธีอยู่บ้านไม่ออกจากบ้านแพร่เชื้อเป็นวิธีที่จะทำให้ประเทศฟื้นเร็วที่สุด ในวิกฤตอย่างนี้ต้องช่วยกัน อย่าทำให้โรคนี้กระจายออกไปมากขึ้น เป็นการช่วยชาติรัฐบาลและโรงพยาบาล”

 

ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขอขอบคุณเครือซีพีที่สร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายฟรีให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้โรงพยาบาลจุฬาฯจะประสานความร่วมมือกับสภากาชาดไทยเพื่อเป็นเครือข่ายการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆอย่างครอบคลุม

 

ศ.นพ.สุทธิพงศ์กล่าวว่า โรงงานหน้ากากอนามัยนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประเทศไทยรอดพ้นภาวะวิกฤตเป็นการสร้างอาวุธเกราะในการป้องกันให้กับแพทย์และบุคลากรโดยหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ก็มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.เรียบร้อยแล้วและจากการที่ได้เยี่ยมชมก็เห็นถึงประสิทธิภาพว่าเป็นโรงงานที่สามารถผลิตหน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพได้จริง

 

ผมขอพูดในนามตัวแทนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศว่าประเทศไทยมีคุณค่าเรื่องการให้และการรับ ได้เห็นจิตใจคนไทยที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ซึ่งเราซึ้งใจมากที่ประธานอาวุโสซีพีมอบสิ่งมีค่าในการใช้ป้องกันโรคให้เราและพวกเราซาบซึ้งกับหลายท่านที่ได้เป็นผู้ให้ไม่ว่าบริจาคสิ่งใดให้กับโรงพยาบาลจุฬาฯและโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศสิ่งเหล่านี้เรานำกลับมาใช้ป้องกันและร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตนี้ได้เร็วที่สุด” ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ฯกล่าว

 

นายธนินท์ยังได้กล่าวถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในสถานการณ์นี้เครือซีพีประกาศว่าซีพีในทุกประเทศทั่วโลกจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานออกแม้แต่คนเดียว จะดูแลพนักงานของซีพีให้ดีที่สุดไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยมีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยปกป้องพนักงานไม่ให้เข้าไปเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมีการใช้มาตรการทำงานที่บ้านโดยยังจ่ายเงินเดือนและรายได้เช่นเดิมซึ่งซีพีให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานมากเพราะการรักษาคนของซีพีก็เท่ากับบริษัทรักษาพลังของบริษัทไว้คู่กันเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายเพราะเมื่อถึงเวลานั้นประเทศต้องเดินหน้าต่อได้ทันทีเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวภาคแรงงานและกำลังคนของซีพีก็จะเดินหน้าได้ทันทีเป็นการเตรียมพร้อมในเวลานี้ของซีพีหลังวิกฤตจบลงซึ่งซีพีใช้แนวทางนี้จนประสบความสำเร็จมาแล้วในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดหนักที่เมืองอู่ฮั่นในจีน

 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 นายธนินท์มีความเห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้แตกต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ผ่านมา ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งแต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตระดับโลกเกิดขึ้นกะทันหันทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง ผู้คนต้องกักตัวในที่อยู่อาศัยเพื่อเลี่ยงการแพร่เชื้อโรค

 

สำหรับประเทศไทยส่งผลให้ธุรกิจสำคัญอย่างภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีผลกระทบทั้งระบบซึ่งประเทศไทยพึ่งพารายได้ด้านการท่องเที่ยวมหาศาล ดังนั้นในช่วงวิกฤตจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่นี้จึงเสนอให้เตรียมแผนเชิงรุกด้านการท่องเที่ยวและส่งออกไว้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสะสมพลังไว้และขอให้ภาคเอกชนและธุรกิจต่างๆ เตรียมพร้อมด้านกำลังคนและภาคแรงงานไว้ “หากสามารถที่จะช่วยเหลือไม่เลิกจ้างแรงงาน ทำให้ผู้คนยังมีกำลังจับจ่ายภายในประเทศได้จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะวันนี้เมื่อมืดที่สุดก็จะสว่าง ไม่มีวันที่จะมืดไปตลอดกาล ดังนั้นเมื่อสว่างแล้วจะต้องเตรียมตัวทำอย่างไรเช่นเดียวกับที่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมากเพราะหลังวิกฤตแล้วมีโอกาสแน่นอน”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง