รีเซต

CPW เตรียมชงผถห. ซื้อกิจการ IBIZ Plus ขยายตลาดเทคโนโลยี

CPW เตรียมชงผถห. ซื้อกิจการ IBIZ Plus ขยายตลาดเทคโนโลยี
ทันหุ้น
30 กรกฎาคม 2564 ( 14:49 )
110
CPW เตรียมชงผถห. ซื้อกิจการ IBIZ Plus ขยายตลาดเทคโนโลยี

ข่าววันนี้ นายปรเมศร์ เหรียญเจริญสุขประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) หรือ CPW เปิดเผยว่า บริษัทฯ เดินหน้าขยายธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ซึ่งมีความต้องการใช้อุปกรณ์สื่อสาร และสินค้าเทคโนโลยี ตอบสนองชีวิตยุคใหม่ และความก้าวหน้าของอุปกรณ์เทคโนโลยี รวมไปถึง อุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งอยู่ในเทรนด์การเติบโตของโลก จึงเข้ามาลงทุนต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เสริมจุดแข็งในการเป็นผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ จากแบรนด์ชั้นนำ ได้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น

 

โดย ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติและให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ครั้งที่1/2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติการรับโอนกิจการและทรัพย์สินบางส่วนของบริษัท ไอบิส พลัส เน็ทเวอร์ค จำกัด (IBIZ Plus) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกิจการร้านค้าสินค้าโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ประกอบด้วย กิจการร้านค้าภายใต้แบรนด์ AIS Shop, AIS Telewiz, AIS Buddy, Samsung และ Xiaomi รวมแล้วไม่เกิน 56 ร้าน รวมถึงทรัพย์สินของกิจการร้านค้า ได้แก่ สินค้าคงเหลือ สินค้าเพื่อทดลอง สิ่งตกแต่งกิจการร้านค้าและทรัพย์สินอื่นใดที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการร้านค้า ตลอดจนธุรกิจค้าส่งที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดให้คำนวณราคาค่าตอบแทนการรับโอนกิจการฯ ตามค่าเฉลี่ยต่อปีของกำไรสุทธิหลังหักภาษี (Net Profits after Tax) ที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างปี 2565 ถึง 2567 ของกิจการฯ เมื่อคำนวณแล้ว ค่าตอบแทนทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

 

บริษัทฯ จะชำระค่าตอบแทนการโอนกิจการฯ ให้แก่ IBIZ Plus ด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทและ/หรือ เงินสด โดยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะเสนอขายให้แก่ IBIZ Plus เพื่อชำระเป็นค่าตอบแทน รวมกันจะไม่เกิน 31,578,900 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ IBIZ Plus ทั้งหมดแล้ว ในราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่เท่ากับราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นสามัญของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยย้อนหลัง 15วันทำการติดต่อกันก่อนหน้าวันที่คณะกรรมการบริษัทมีมติกำหนดราคาเสนอขายหุ้น

 

IBIZ Plus เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมถึงได้รับสิทธิเป็นตัวแทนจำหน่ายและบริหารร้านค้าภายใต้แบรนด์ AIS Shop, AIS Telewiz, AIS BuddyAIS Shop, AIS Telewiz, AIS Buddy, Samsung และ Xiaomi ในประเทศไทย โดยมี นายบุญชัย อาศิรวาทวณิชย์ และนายณัฏฐ์ณภัทร อาศิรวาทวณิชย์ เป็นผู้ก่อตั้งและบริหารกิจการทั้งหมดของ IBIZ Plus และ/หรือ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเมื่อบริษัทรับโอนกิจการฯ เสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ก่อตั้งจะบริหารจัดการกิจการฯ ร่วมกับตัวแทนที่บริษัทแต่งตั้งต่อเนื่องต่อไปเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี นับจากวันที่บริษัทได้ชำระค่าตอบแทนทั้งหมดครบถ้วน

 

ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทดังกล่าว IBIZ Plus จะถือหุ้นของบริษัทไม่เกิน 31,578,900 หุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเพิ่มทุน อนึ่ง ในการทำรายการครั้งนี้จะไม่มีการให้สิทธิ IBIZ Plus เสนอชื่อบุคคลใดเข้ามาเป็นกรรมการ และ/หรือ ผู้บริหารของบริษัท ฉะนั้น IBIZ Plus จึงไม่เข้าข่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท โดยมติดังกล่าวจะเสนอเข้าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/64 ในวันที่ 14 ก.ย. 64 นี้

 

โดยผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายกลุ่มสินค้าแบรนด์ Apple สินค้าดิจิทัลไลฟ์สไตล์ และกลุ่มสินค้า Mobile Accessories ของบริษัท ไปในร้านค้า AIS, Samsung และ Xiaomi ที่บริษัทจะรับโอนมา เพิ่มยอดจากการขายกลุ่มสินค้าโทรศัพท์มือถือ Samsung และอื่น ๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android, เพิ่มรายได้จากการให้บริการต่าง ๆ สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบของ AIS เช่น การรับชำระค่าบริการ การเติมเงิน ซึ่งมีผลตอบแทนที่ดีที่จะช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทให้เพิ่มมากขึ้น

 

เพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถซื้อสินค้าได้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยของสินค้าที่ซื้อลดลง หรือได้ส่วนลด เงินคืนเพิ่มขึ้น เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดใหม่ ๆ รวมถึงการขายส่งสินค้าประเภทโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่บริษัทไม่เคยมีมาก่อน ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ Apple เพียงรายเดียว และสามารถเข้าถึงลูกค้าในกลุ่มใหม่ๆ ที่บริษัทยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการเพิ่มผลิตภัณฑ์ บริการ ประเภทร้านค้า และช่องทางการจำหน่ายที่ขยายไปในภูมิภาคหรือในต่างจังหวัด

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง