รีเซต

อียูอัดฉีดเพิ่ม 500 ล้านยูโร หนุนประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง เข้าถึงวัคซีนโควิด-19

อียูอัดฉีดเพิ่ม 500 ล้านยูโร หนุนประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง เข้าถึงวัคซีนโควิด-19
Xinhua
20 กุมภาพันธ์ 2564 ( 14:27 )
51
อียูอัดฉีดเพิ่ม 500 ล้านยูโร หนุนประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง เข้าถึงวัคซีนโควิด-19

บรัสเซลส์, 19 ก.พ. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (19 ก.พ.) สหภาพยุโรป (EU) ประกาศแผนการเพิ่มเงินสนับสนุนแก่โคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางให้สามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้อย่างเท่าเทียม

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 7 (G7) ทางออนไลน์ว่าประเทศสมาชิกอียูรับรองจะเพิ่มเงินแก่โครงการฯ อีก 500 ล้านยูโร (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) ทำให้เงินสนับสนุนทั้งหมดอยู่ที่ 1 พันล้านยูโร (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท)

แถลงการณ์จากอียูระบุว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าวทำให้โคแวกซ์เริ่มเข้าใกล้เป้าหมายส่งมอบวัคซีน 1.3 พันล้านโดสให้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 92 แห่งภายในสิ้นปี 2021 โดยยุโรปเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโคแวกซ์ด้วยเงินกว่า 2.2 พันล้านยูโร (ราว 7.9 หมื่นล้านบาท) ซึ่งรวมถึงเงินค้ำประกันโดยเยอรมนีจำนวน 900 ล้านยูโร (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท)

"เมื่อปี 2020 เรามุ่งมั่นจะรับรองให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงในทุกมุมโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรับมือกับโรคโควิด-19 ทั่วโลก (Coronavirus Global Response) ของเรา และโคแวกซ์ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้" ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าว "ทั่วโลกปลอดภัย เราก็ปลอดภัย"

เงินสนับสนุนเพิ่มเติมประกอบด้วยเงินให้เปล่า 300 ล้านยูโร (ราว 1 หมื่นล้านบาท) และเงินค้ำประกันโดยกองทุนยุโรปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (EFSD+) อีก 200 ล้านยูโร (ราว 7.2 พันล้านบาท) ซึ่งจะสนับสนุนเงินกู้โดยธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB)

ทั้งนี้ โครงการโคแวกซ์มีประเทศที่เข้าร่วมแล้ว 191 แห่ง โดยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง 92 แห่ง และส่วนใหญ่เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ที่มีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนโรคโควิด-19 ผ่านการทำสัญญาจองล่วงหน้า (AMC) ขององค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านสุขภาพโลกของหน่วยงานรัฐและเอกชนเพื่อ "สร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคน"

ด้านอันโตนิอู กูแตร์เรช เลขาธิการสหประชาชาติ ได้เสนอให้กลุ่มประเทศจี 20 (G20) จัดตั้งหน่วยงานฉุกเฉินเพื่อจัดทำ "แผนการฉีดวัคซีนทั่วโลก" เพื่อต่อต้านการระบาดใหญ่

"เราได้ร่วมกันสร้างโคแวกซ์ขึ้นมา แต่เราต้องพยายามมากกว่านี้เพื่อให้ครอบคลุมและประสานงานกันได้อย่างดีในทุกที่" กูแตร์เรชกล่าวระหว่างการอภิปรายของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่าด้วย "การรับรองการเข้าถึงวัคซีนโรคโควิด-19 ในบริบทของการได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความไม่มั่นคง"

กูแตร์เรชเสริมว่าหน่วยงานฉุกเฉินดังกล่าวควรครอบคลุมทุกประเทศที่มีความสามารถพัฒนาหรือผลิตวัคซีนหากมีใบอนุญาต ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน องค์กรด้านเทคนิค และสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 251 ตัวทั่วโลก โดย 70 ตัวอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกในเยอรมนี จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง