รีเซต

ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก กับการเรียกร้องแก้กฎหมายในมาเลย์

ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก กับการเรียกร้องแก้กฎหมายในมาเลย์
TNN ช่อง16
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:54 )
142

สำนักข่าว SCMP รายงานถึงปัญหาที่แก้ไม่ตกในเอเชีย หลังการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ทำให้การแต่งงานในวัยเด็กพุ่งสูงต่อเนื่อง กับคำถามที่ว่า เด็กเกินไปไหมที่จะ(จับ)แต่งงาน?


---ตั้งครรภ์ในวัยเรียน---


เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ลีอา (นามสมมติพบว่าตนเองตั้งครรภ์ เพียงไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีการสอบระดับประเทศ หญิงวัย 17 ปีลาออกจากโรงเรียน แต่ยังคงสอบปลายภาค โดยได้เกรด A ในวิชาภาษาอังกฤษ รวมถึง C และ D ในวิชาอื่น  ซึ่งเพียงพอสำหรับการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เธอตัดสินใจแต่งงานกับแฟนหนุ่มอายุ 32 ปี


ปัจจุบัน ลีอา อายุ 24 ปี หลังพ่อแม่หย่าร้างกัน แม่ของลีอาเป็นเลี้ยงดูเธอ และสนับสนุนให้เธอแต่งงานกับแฟนคนดังกล่าว


แม่ของฉันเห็นด้วย เพราะคิดว่าการแต่งงานจะทำให้ฉันเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น” ลีอา กล่าว โดยในช่วงที่เป็นวัยรุ่น เธอมักจะออกไปข้างนอกในยามกลางคืน และไม่เชื่อฟังคำสั่งของแม่


การแต่งงานของลีอาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะชาวมุสลิมในมาเลเซียอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลาม หรือ ชารีอะห์ โดยเป็นกฎหมายอิสลามภายใต้ระบบกฎหมายของประเทศนั้น  ซึ่งในมาเลเซีย อายุ 16 ปี ก็สามารถแต่งงานได้แล้ว


ขณะที่ ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งคิดเป็น 28.7% จากจำนวนประชากร 32.7 ล้านคน ทั้งสองฝ่ายต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี จึงจะแต่งงานได้


---หรือนี่อาจถึงเวลาแก้ไขกฎหมาย---


เมื่อมองย้อนกลับไป ลีอาบอกว่า เธอรู้สึกเสียใจที่ตัดสินใจเช่นนั้น ถึงแม้ว่าเธอจะมีความสุขกับการเลี้ยงลูกชายที่ตอนนี้อายุ 7 ปีก็ตาม เนื่องจากลีอาต้องทุกข์ทรมานกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และความเหนื่อยล้าในช่วงการแต่งงานปีแรก  


ก่อนแต่งงานสามีของเธอทำงานจิปาถะไปเรื่อย และตัดสินใจที่จะไม่ทำต่อ ทำให้ช่วงเจ็ดเดือนหลังคลอด ลีอาต้องทำงานในร้านขายสัตว์เลี้ยง โดยมีรายได้ 900 ริงกิตต่อเดือน (ราว 7,090 บาท)


ฉันโชคดีที่พ่อของฉันช่วยดูแลลูกชายในตอนที่เขาเกิด ทั้งยังจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่น  ของหลานตัวน้อยนี้อีก” ลีอา กล่าว


ฉันหวังว่าตัวเองจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตวัยรุ่น เพราะเมื่อทุกคนยุ่งกับการเติบโต ฉันอยู่แต่บ้านเป็นทั้งภรรยาและเป็นแม่คน แต่ก็โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง มันเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก แต่ฉันดีใจที่มีโอกาสได้แบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนอื่น” เธอ กล่าว


---“เจ้าสาววัยเด็ก” เรื่องปกติในสังคมเอเชีย?---


เธอฟ้องหย่า หลังจากแต่งงานได้ 1  ปี 6 เดือน และเชื่อว่า มาเลเซียจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อไม่ให้วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 18 ปีต้องแต่งงาน


เด็กก็คือเด็ก การคาดหวังว่าเด็กที่อายุแค่ 16 ปี โตพอที่จะแต่งงานนั้นเป็นเรื่องผิดมหันต์ ทำไมคนถึงคาดหวังและตระเตรียมเด็กผู้หญิงให้โตทันใจ ราวกับเป็นผลไม้ที่รอวันแพ็คลงกล่อง” ลีอา กล่าว


อย่างไรก็ตาม การยอมรับการแต่งงานในวัยเด็ก หรือ “เจ้าสาววัยเด็ก” ของมาเลเซีย ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในเอเชีย


ปัจจุบัน เอเชียใต้มีอัตราการแต่งงานในวัยเด็กสูงที่สุดในโลก โดยมีรายงานว่า 45% ของผู้หญิงอายุ 20-24 ปี แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี และเกือบ 1 ใน 5 ของเด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนอายุ 15 ปี


---กฎหมายจารีตประเพณีที่ไม่อาจก้าวผ่าน---


เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนาของมาเลเซีย ปฏิเสธข้อเสนอจากกระทรวงสตรี ชุมชน และการพัฒนาที่จะเพิ่มอายุการแต่งงานขั้นต่ำเป็น 18 ปี


ขณะที่ การแต่งงานในวัยเด็กยังเป็นปัญหาที่มีมายาวนานในรัฐซาบาห์และซาราวัก และไม่ใช่แค่ในหมู่ชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยจำนวนมากในมาเลเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้ “การปกครองของตนเอง” หรือกฎหมายจารีตประเพณี


ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จำนวนการแต่งงานของเด็กทั่วโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากความยากจนที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ครอบครัวต้องจับลูกสาวแต่งงาน เพื่อลดแรงกดดันทางการเงิน


ลี หลินหนี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กของ Unicef Malaysia กล่าวว่า องค์กรกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลกลางเพื่อ “สร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเสี่ยงและภัยคุกคามที่เกิดจากการบังคับให้เกิดการแต่งงานในวัยเด็ก


ลี กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายเป็นกุญแจสำคัญ และหนทางหนึ่ง คือ กำหนดอายุสมรสให้เหมาะสมที่ 18 ปีโดยไม่มีข้อยกเว้น สิ่งนี้จะสอดคล้องกับพันธกรณีของมาเลเซีย ภายใต้อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองเด็ก


---โลกควรยุติการแต่งงานในวัยเด็กได้หรือยัง?---


ลี กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐยังสามารถศึกษาความเป็นไปได้ของการทำให้การแต่งงานในวัยเด็กเป็นอาชญากรรมได้ด้วย อีกทั้งทัศนคติและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นกุญแจสำคัญ  เนื่องจากปัญหา “เจ้าสาววัยเด็ก” มีรากหยั่งลึกในทางสังคมและเศรษฐกิจ


เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานที่ร่วมเขียนโดย Unicef เกี่ยวกับการยุติการแต่งงานในวัยเด็ก “มีการอภิปรายเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์หรือการยุติการตั้งครรภ์ แม้จะได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมาย แต่เนื่องจากค่านิยมทางศีลธรรมและศาสนา มักถือว่าการทำแท้งเป็นทางเลือกที่ยอมรับไม่ได้และผิดศีลธรรม


ทั้งนี้ ความยากจนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง การจัดให้มีความมั่นคงทางรายได้ในระดับที่เหมาะสมแก่ชาวมาเลเซีย ก็อาจแก้ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กด้วยเช่นกัน


สวัสดิการที่เพียงพอสำหรับเด็กและครอบครัวที่ยากจน สามารถรับประกันได้ว่า เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำจะไม่ออกจากระบบการศึกษาก่อนเวลาอันควร” เธอ กล่าว

—————

แปล-เรียบเรียงพัชรี จันทร์แรม

ภาพ: Mohd RASFAN / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง