ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร? รู้จัก “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เก็บเงินต่างชาติเข้าไทย 300 บาท
กลายเป็นกระแสที่ใครๆ ก็พูดถึง “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หลังจากที่ภาครัฐ วางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อนำเงินไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว แต่ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” คืออะไร ทำไมจะต้องเก็บค่าเข้าประเทศแก่ชาวต่างชาติ TrueID จะพาไปเช็กรายละเอียดได้เลยที่นี่
ค่าเหยียบแผ่นดิน คืออะไร
ค่าเหยียบแผ่นดิน คือ การเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศไทย หรือ ค่าบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว โดยมีหลายประเทศที่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เช่นเดียวกับไทย ได้แก่ ยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย โดยส่วนใหญ่จะรวมอยู่ในราคาตั๋วเครื่องบิน หรือราคาห้องพัก ไม่แตกต่างจากที่ไทยกำลังดำเนินการ
โดยในวันที่ 1 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย หรือ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" จำนวน 300 บาท ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า หากในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามา 5 ล้านคน จะสามารถจัดเก็บเงินได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท
ทำไมต้องเก็บ ค่าเหยียบแผ่นดิน
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุง โดยสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรับผิดชอบดูแลนำเงินที่ได้มาไปพัฒนาภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนเงินที่เก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 300 บาทต่อคน จะดึงออกมา 50 บาท เพื่อนำไปซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าในปี 2565 เป็นปีแรกที่เก็บนี้อาจเหลือเงินใส่เข้าไปในกองทุนนี้ 1,250 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก
ใครต้องจ่ายเงินค่าเหยียบแผ่นดิน
การจัดเก็บเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 300 บาทต่อคนนั้น ตามกำหนดเดิมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 แต่จากการประเมินสถานการณ์และความพร้อมต่างๆ ได้พิจารณาและเลื่อนออกไปก่อน เพราะมีการหารือกับทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) แล้ว ถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินที่ทางไออาต้า ระบุว่าต้องจัดเก็บกับทุกคนทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ซึ่งการเก็บเงินคนไทยด้วยนั้นขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย จึงเปลี่ยนมาประสานทางสายการบินให้จัดเก็บเงินนี้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นแทน โดยจะคิดรวมอยู่กับราคาตั๋วเครื่องบินทันที
ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมกำลังเจรจาร่วมกับสายการบินเกือบครบทุกสายการบินแล้ว คาดว่าในเดือนมีนาคมนี้จะเสร็จสิ้นได้ ขณะที่การเดินทางเข้าประเทศไทยทางบกจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชันขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินก่อนเดินทางเข้ามา และให้แสดงหลักฐานก่อนเข้าประเทศว่าได้จ่ายเงินแล้ว
เริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเมื่อไหร่
เริ่มเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ รัฐบาลเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 300 บาท เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และ ยังใช้ในการประกันภัยให้นักท่องเที่ยว
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าปีนี้ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท จะมีต่างชาติเที่ยวไทย ระหว่าง 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 8 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปกติทั่วไป ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาท
ปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีโอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 65 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงานต่อไป
ข้อมูลจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ , มติชน
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<