จับทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 67 ความท้าทายและโอกาสฟื้นเศรษฐกิจไทย
ทิศทางเศรษฐกิจโลกดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า เป็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัว เพราะปกติ GDP โลกจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 แต่การที่ IMF คาดการว่า จะโตไม่ถึงร้อยละ 3 ซึ่งการ GDP โลกหายไปร้อยละ 1 เท่ากับหายไป 1 ล้านล้านเหรียญ เป็นมูลค่าที่สูงมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุน
และเนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกใน 3 ด้านหลัก คือ การค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก, ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ และ ด้านการบริการ ดังนั้นไม่ว่าโลกขยับไปในทิศทางใดก็ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่แท้จริง ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สามารถโตได้ถึงร้อยละ 3 ต่อปี แต่ปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าโตอยู่ที่ร้อยละ 2.4-2.5 ค่อนข้างต่ำกว่าศักยภาพที่เป็นจริง เพราะไทยมีประชากรประมาณร้อยละ 1 ของโลก แต่ GDP มีแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์ของโลก ประมาณ 5 แสนล้านเหรียญ ขณะที่ GDP ของโลกเกือบ 1 ร้อยล้านล้านเหรียญ ฉะนั้นการที่จะโตตามศักยภาพที่ควรจะเป็นต้องมากกว่าร้อยละ 3 และเมื่อเทียบกับอาเซียนที่โตเฉลี่ยร้อยละ 5 ไทยโตแค่ครึ่งเดียวคือร้อยละ 2 นี่คือโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้กลับเข้าสู่ลู่ทางตามศักยภาพที่ควรเป็น” รศ.ดร. สมภพ กล่าว
“กู้จุดอ่อน-เสริมจุดแข็ง” ฟื้นเศรษฐกิจไทย
รศ.ดร. สมภพ ชี้ว่า หากดูตัวเลข GDP จะเห็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ และส่งเสริมจุดแข็งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นได้อีก นั่นคือ กอบกู้ส่วนที่ติดลบในภาคอุตสาหกรรม และ การส่งออก ที่มีสัดส่วนมาถึงร้อยละ60 ของ GDP ไทย ถ้าส่งออกขยายตัวได้ ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ในประเทศก็จะขับเคลื่อนได้ ที่สำคัญการลงทุนภาครัฐที่อ่อนล้ามากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาการผ่านงบประมาณปี 2567 ที่ต้องเริ่มใช้งบประมาณได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 แต่ไม่ได้ใช้ ดังนั้นปีนี้ ต้องผ่านออกมาใช้งบลงทุนให้มากขึ้นให้ได้ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมศักยภาพด้านบวก คือ การบริโภค และ ภาคบริการให้เพิ่มขึ้น
“ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่ไทยกำลังชู เราต้องเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับภาคการผลิต อุตสาหกรรมภาคกสิกรรมไปหาภาคบริการให้เพิ่มมากขึ้น ต้องพัฒนาภาคบริการไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การแพทย์ การท่องเที่ยว กีฬา บันเทิง ทั้งหลายเหล่านี้ให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งรัฐบาลมีคณะทำงานซอฟต์พาวเวอร์ดูแลอยู่แล้ว สิ่งที่ควรทำคือ ต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อจะได้ยกทั้งองคาพยพของภาคบริการให้เติบโตขึ้นมา”
ที่สำคัญปี 2567 นี้ ไทยจะต้องไม่ตกรถไฟ 2 ขบวน นั่นคือ..
ขบวนแรก การเติบโตหรือการขยายตัวของภาคการเงินที่มี สหรัฐฯ เป็นผู้นำ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 นี้ จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกหลายครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ตลาดเงิน ตลาดทุน ของสหรัฐฯ ขยายตัว ดังนั้นไทยต้องใช้โอกาสนี้ ทำให้ทำตลาดเงินตลาดทุนไม่ติดลบเหมือนปีที่ผ่านมา “ทำอย่างไรที่ปีหน้าจะติดสอยห้อยตามแนวโน้มภาคการเงินโลกให้ได้
ขบวนที่ 2 แนวโน้มภาคเศรษฐกิจจริง หรือ Real Sector ที่มีจีนเป็นผู้นำไม่ว่าจะเป็นการผลิต การค้าต่างประเทศต่าง ๆ .. “หากจีนมีการขยายตัวด้านการส่งออกดี ไทยก็ควรต้องส่งออกดีด้วย เพราะไทยอยู่ร่วมใน Supply Chain เดียวกับจีน”
รศ.ดร. สมภพ ชี้ว่า การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินสายชักชวนการลงทุนในหลายประเทศด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเอกชนญี่ปุ่นที่มีมูลค่าสูงถึง 4 พันกว่าล้านเหรียญหรือแสนกว่าล้านบาท หรือที่ไปสหรัฐฯ ชักชวนลงทุนด้าน Data center มูลค่าอีกกว่า 3 แสนล้านบาท รวมถึงการตกลงกับจีนเพื่อขยายการลงทุนอุตสาหกรรมรถอีวีในไทย เหล่านี้ต้องมีการขับเคลื่อนความตกลงให้เป็นจริงในทางปฏิบัติให้ได้
“จะทำอย่างไรให้ภาคบริการของไทย สามารถเสริมต่อกับภาคการผลิต ทำให้เกิด 2 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องผันออกมาเป็นภาคปฏิบัติให้ได้”
ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกปี 67
นอกจากเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงจากสาเหตุตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองแล้ว เหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคงก็เป็นปัจจัยสำคัญ
ปี 2567 หรือ 2024 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้งโบก เพราะมีถึงเกือบ 70 ประเทศ-ดินแดน จะจัดการเลือกตั้ง ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลกหรือราวร้อยละ 49 ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อาทิ ไต้หวัน อินโดนีเซีย รัสเซีย อินเดีย และที่สำคัญคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อทั่วโลก เรียกว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะมีการเลือกตั้งมากมายหลายประเทศแบบนี้
“ยิ่งมีการเลือกตั้งมาก นักการเมือง พรรคการเมืองจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ จะมีการนำเสนอนโยบายแปลก ๆ เข็นนโยบายประชานิยมมาก ๆ หรือ นโยบายต่างประเทศที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้”
รศ.ดร. สมภพ ยังมองถึงภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างประเทศ ใน 2 สมรภูมิที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ “อิสราเอล-ฮามาส” ที่มีพันธมิตรแต่ละฝ่ายเกี่ยวโยงหลายประเทศ และ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่คาดว่าปี 2567 น่าจะเขม็งเกลียวเพิ่มขึ้น เพราะรัสเซียก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 17 มีนาคม 2567
“ฉะนั้นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์จึงออกมาเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อทำให้ตัวเองชนะการเลือกตั้ง เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องมีการประเมิน และเป็นเรื่องไม่แน่นอน เราจะบริหารความไม่แน่นอนเหล่านี้อย่างไร”
รศ.ดร.สมภพ ชี้ว่า อันดับแรก ต้องดูแลเศรษฐกิจมหภาคของไทยให้สอดคล้องกับสายตาที่คนต้องการเห็น ไม่ว่าจะเป็นสายตาของคนในประเทศ หรือ นักลงทุนต่างประเทศ นโยบายการเงินการคลังต้องสอดคล้องกับการสร้างศักยภาพและสมรรถนะของเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่หวังผลชั่วครั้งคราว ไม่เช่นนั้นนักลงทุนภาคการเงินก็จะไม่กลับมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนของเรา นักลงทุนภาคเศรษฐกิจจริงก็จะไม่กลับมาลงทุนในประเทศไทยเราเท่าที่ควร เราจะพลาดโอกาสไป
อันดับ 2 เศรษฐกิจรายภาคส่วน ต้องมีมาตรการสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตัวที่ทำได้ตัและเห็นผลแบ้วตทำอนนี้คือ มาตรการด้านภาษีสนับสนุนส่งเสริมการหันมาใช้รถยนต์อีวี
“ที่สำคัญนโยบายรัฐบาลที่มุ่งไปทางซอฟต์พาวเวอร์ การบริหารจัดการท่องเที่ยว ตอนนี้ประเทศไทยนับเป็นชุมทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการความปลอดภัยเชิงรุก การดูแลความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาติใดก็ตาม”
จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง
เครดิตภาพ TNN