รีเซต

เอ็กซิมแบงก์แนะจับตลาดดิจิตอล-อีคอมเมิร์ซ ลดผลกระทบเศรษฐกิจขาดิ่ง

เอ็กซิมแบงก์แนะจับตลาดดิจิตอล-อีคอมเมิร์ซ ลดผลกระทบเศรษฐกิจขาดิ่ง
ข่าวสด
8 กันยายน 2564 ( 18:58 )
48

ข่าววันนี้ นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ กล่าวเปิดงานสัมมนาออนไลน์ “Digital พลิกโฉมการค้าโลก” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีปกติ และเชื่อมโยงการใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การค้าออนไลน์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ทันจึงเข้าถึงโอกาสนี้ได้เร็ว และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งบูรณาการความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค้าขายอย่างไร้พรมแดนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างคล่องตัวและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นใจ ด้วยความพร้อมด้านข้อมูลข่าวสาร เงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ

 

 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและการค้าโลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัว ซึ่งในปี 2563 เศรษฐกิจโลกหดตัว 3.2% ขณะที่การค้าสินค้าโลก หดตัวที่ 9% และบริการของโลกหดตัว 15% แต่การค้าออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ของโลกกลับขยายตัวกว่า 20% จาก 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เป็น 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 และคาดว่าจะมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568

 

“เทคโนโลยีดิจิตอลได้มีส่วนช่วยพยุงหรือรองรับเศรษฐกิจในช่วงขาลง ขณะเดียวกันในช่วงขาขึ้นก็เป็นเสมือนสปริงบอร์ด เร่งให้ธุรกิจเติบโตได้แบบก้าวกระโดด โดยปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป มากกว่า 50% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายออนไลน์บ่อยกว่าที่ผ่านมา และมากกว่า 40% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มรับชมสื่อบันเทิงออนไลน์บ่อยกว่าเดิม เพราะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว สำหรับสินค้าและบริการดิจิตอลที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในปัจจุบัน อาทิ อุตสาหกรรมเกม สื่อบันเทิงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Netflix สินค้าเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เป็นต้น” นายรักษ์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องเตรียมพร้อมที่จะเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในโลกการค้ายุคใหม่ โดยต้องมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและสถาบันการเงิน อาทิ เอ็กซิมแบงก์ให้เป็นประโยชน์ เพื่อเสริมธุรกิจให้แข็งแกร่ง ทั้งด้านเทคโนโลยี ความรู้ เงินทุนและเครื่องมือบริหารความเสี่ยง ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปสู่โอกาสใหม่ๆ ได้

 

โดยเอ็กซิมแบงก์มีบริการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านเงินทุน ประกันการส่งออก และระบบดิจิทัล อาทิ ระบบบริหารจัดการความรู้และประเมินความพร้อมด้านการส่งออก (Thailand Export Readiness Assessment and Knowledge Management : TERAK) และ Thailand E-commerce Pavilion

 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยสูงมาก โดยมีสัดส่วนต่อจีดีพีรวมทั้งประเทศกว่า 30% ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน ดังนั้น การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้แม้ในภาวะวิกฤต รวมถึงขยายธุรกิจให้เติบโตได้ท่ามกลางโอกาสที่เกิดขึ้นในโลกวิถีใหม่ (New Normal) จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและเป็นรากฐานการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยตอบสนองต่อเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่และเมกะเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อโลกเป็นวงกว้างในอนาคตข้างหน้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง