เอกชน แนะรัฐตั้งกองทุนรักษาธุรกิจท่องเที่ยวไทย ป้องไม่ให้ตกในมือต่างชาติ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวที่ผ่านมา อาทิ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ถือว่ามีส่วนช่วยประคองให้การท่องเที่ยวยังอยู่ต่อไปได้ แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะรายเล็ก หรือธุรกิจที่พึ่งพาชาวต่างชาติเป็นหลัก ก็อาจจะไปต่อไม่ไหว จึงอยากเสนอให้ภาครัฐตั้งกองทุน เพื่อมาซื้อกิจการของผู้ประกอบการที่อยากปิดบริการชั่วคราว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม และป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาซื้อไปครอบครอง ซึ่งเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินไปชำระหนี้ได้ และเมื่อสถานการณ์กลับมาฟื้นตัวมากขึ้นเจ้าของกิจการเดิมก็ยังกลับมาซื้อกิจการคืนได้อีกด้วย
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ภาครัฐการต่ออายุโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยหากจะต่ออายุโครงการนี้ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และช่วยให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเที่ยวอีกด้วย เพราะในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ประชาชนยังไม่ค่อยกล้าใช้จ่ายมาก แต่ถ้ามีมาตราการ หรือโครงการต่างๆ ออกมากระตุ้น ก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้มากขึ้น
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้มีการนำเข้าผู้ที่จะมาพักเป็นชาวต่างชาติ เพื่อเข้าวิลล่าควอเรนทีน (Villa Quarantine) หรือ สถานที่กักตัวโดยเข้าพักที่ โรงแรมศรีพันวา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ นั้น มองว่าแนวคิดนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ เป็นตัวเลือกให้อีกหลายโรงแรมที่มีกลุ่มลูกค้าต่างชาติระดับพรีเมียม ที่ผ่านการคัดกรองอย่างถูกต้องตามกฎของกระทรวงสาธารณะสุข เข้ามากักตัวและท่องเที่ยวในประเทศไทยตามข้อจำกัดของภาครัฐ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวค่อยๆ ฟื้นตัวอีกด้วย
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ธนาคารออมสิน เตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท นั้น อยู่ที่ว่าปล่อยได้เร็ว และให้มีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เข้าถึงได้เร็วแค่ไหน แม้จำนวนสินเชื่อที่ปล่อยมาจะห่างชั้นกับรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่หายไปก็ตาม แต่หากธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้เร็วก็ถือว่าเป็นผลดีกับผู้ประกอบการ และหากการปล่อยกู้สินเชื่อในครั้งนี้ได้ผลสามารถช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบได้จริง ภาครัฐควรเพิ่มวงเงินในการปล่อยกูเพิ่มอีก แต่จะเพิ่มเป็นจำนวนเท่าไหร่ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของภาครัฐ