รีเซต

ปูตินขู่ใช้ขีปนาวุธ “ตอบโต้สายฟ้าแลบ” ประเทศยุ่งสงครามยูเครน

ปูตินขู่ใช้ขีปนาวุธ “ตอบโต้สายฟ้าแลบ” ประเทศยุ่งสงครามยูเครน
ข่าวสด
28 เมษายน 2565 ( 14:43 )
43
ปูตินขู่ใช้ขีปนาวุธ “ตอบโต้สายฟ้าแลบ” ประเทศยุ่งสงครามยูเครน

ปูตินขู่ใช้ขีปนาวุธ - วันที่ 28 เม.ย. เอเอฟพีและ บีบีซี รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบในยูเครนที่ยังยืดเยื้อว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงเตือนว่าประเทศไหนก็ตามที่แทรกแซง สงครามยูเครน จะเผชิญหน้ากับการตอบสนองที่เร็วปานสายฟ้าแลบจากรัสเซีย โดยข่มขู่ว่าจะใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปและอาวุธนิวเคลียร์อานุภาพสูง

 

หลังจากชาติตะวันตกเพิ่งจัดการประชุมตามข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาที่ประเทศเยอรมนีเมื่อวันอังคารที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับการสนับสนุนความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครน ขณะที่รัฐบาลสหรัฐให้คำมั่นว่ายูเครนสามารถชนะสงครามเหนือการรุกรานของรัสเซียได้หากมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เหมาะสม

 

ประธานาธิบดีปูตินกล่าวสุนทรพจน์กับสมาชิกรัฐสภาที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อวันพุธที่ 27 เม.ย.ตามเวลาท้องถิ่นว่า “หากมีคนจากภายนอกพยายามแทรกแซงสถานการณ์ในยูเครนและสร้างภัยคุกคามเชิงกลยุทธ์ต่อรัสเซีย การตอบสนองของเราจะรวดเร็วปานสายฟ้าแลบ เรามีเครื่องมือทั้งหมดเพื่อตอบโต้โดยไม่มีใครสามารถอวดอ้างได้ และเราจะใช้มันถ้าจำเป็น” นายปูตินกล่าว

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการข่มขู่ดังกล่าวเป็นความพยายามของนายปูตินในการเตือนชาติพันธมิตรของยูเครนเพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนไปมากกว่านี้

 

วันเดียวกัน นางเออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงว่าชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จะช่วยเหลือส่งก๊าซธรรมชาติและเชื้อเพลิงให้แก่โปแลนด์และบัลแกเรีย

 

หลังจากแก๊สพรอม รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัสเซีย ประกาศยุติการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโปแลนด์และบัลแกเรียซึ่งกลายเป็นชาติยุโรปและสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กลุ่มแรกที่ถูกรัสเซียตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรจากกรณีรุกรานยูเครน

 

“เราจะทำให้แน่ใจว่าการตัดสินใจของ แก๊สพรอมจะมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อผู้บริโภคในยุโรป รัฐบาลรัสเซียล้มเหลวอีกครั้งในความพยายามที่จะแยกประเทศสมาชิก ยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียในยุโรปกำลังจะสิ้นสุดลง” นางไลเอินย้ำ

 

ด้าน นายโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศสหภาพยุโรป กล่าวว่าการตัดสินใจของแก๊สพรอมเป็นความเคลื่อนไหวที่ก้าวร้าว หนำซ้ำยังเร่งให้ยุโรปเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเลิกการพึ่งพา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง