รีเซต

ลอยกระทงปี’64 เงินสะพัด 9,147 ล้าน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี - การใช้จ่ายปีนี้ติดลบที่ 3%

ลอยกระทงปี’64 เงินสะพัด 9,147 ล้าน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี - การใช้จ่ายปีนี้ติดลบที่ 3%
ข่าวสด
16 พฤศจิกายน 2564 ( 15:52 )
142

ลอยกระทงสะพัด 9,147 ล. - นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเปิดเผยถึงผลสำรวจ พฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวันลอยกระทง-ความคิดเห็นต่อการผ่อนคลายล็อกดาวน์การเปิดประเทศ ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,240 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 8-12 พ.ย. 2564 พบว่า นี้ ประชาชนมีการวางแผนไปลอยกระทง 51.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 42.7% ไม่ลอย 31.1% ไม่แน่ใจ 12.7% และไปแต่ไม่ลอย 4.6% โดยคนกทม. และปริมณฑล วางแผนไปลอยกระทงสูงสุด 57.5% รองลงมา ภาคกลาง 55.8%

 

ทั้งนี้ วัสดุที่ใช้ทำกระทงปีนี้ สูงสุดยังคงเป็นต้นกล้วย 42.2% รองลงมาคือขนมปัง 32.6% วัสดุอะไรก็ได้ 7.1% วัสดุจากมะพร้าว 5.6% โฟม 5.4% กิจกรรมที่ทำในวันลอยกระทง สูงสุดคือ ไปลอยกระทง 77.5% รองลงมาไปทานอาหารนอกบ้าน 34.9% จัดเลี้ยงสังสรรค์ 14.6%

 

ส่วนการวางแผนการใช้จ่ายในวันลอยกระทงปีนี้ พบว่า ส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เช่น เดินทางลดลง 2.71% ทานอาหารนอกบ้านลดลง 3.2% สังสรรค์ลดลง 3.17% ทำบุญลดลง 4.88%

 

ทั้งนี้ ยังพบมูลค่าการใช้จ่ายวันลอยกระทง ปีนี้ อยู่ที่ 9,147 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยปีที่ต่ำสุด คือ ปี 2554 ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ส่วนอัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายปีนี้ติดลบที่ 3% ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

 

สำหรับ ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงวันลอยกระทง พบว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล ยังคงมีความกังวลสูงสุดที่ 70.6% รองลงมาคือ ภาคกลาง 63.6% เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม เทศกาลลอยกระทงปีนี้เชื่อว่าบรรยากาศจะกลับมาคึกคักมากกว่าในปีที่ผ่านมา หลังรัฐบาลมีการผ่อนคลายล็อก เปิดประเทศ และการฉีดวัคซีนกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งจะให้บรรยากาศดูคึกคัก แต่การจับจ่ายคงไม่คึกคัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังจะออกมาเที่ยวในเทศกาลลอยกระทงแบบรักษาระยะห่าง ขณะที่การจับจ่ายมีการใช้จ่ายที่ประหยัดมากขึ้น

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนว่าคนมองเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ดีนัก เป็นเรื่องที่รัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายในช่วงส่งท้ายปีนี้ต่อเนื่องต้นปี 2565 เพื่อเป็นแรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

โดยขณะนี้ภาคเอกชนสนับสนุนให้รัฐบาลฟื้น โครงการช้อปดีมีคืน ในการลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่าย จะเติมเงินสะพัดในเศรษฐกิจอีก 3-5 หมื่นล้านบาท รวมถึงเติมเงินอีก 1,500 บาทต่อคน ในโครงการคนละครึ่ง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ซึ่งส่วนนี้จะเพิ่มเงินในระบบอีก 9 หมื่นล้านบาท และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท เพื่อลดแรงกดดันต่อการใช้จ่ายเดินทางและสินค้าปรับราคาก่อนปีใหม่

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัว 1.0-1.5% และปี 2565 ขยายตัว 4-5% บนปัจจัยรัฐออกมาตรการเพิ่มแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรึงราคาน้ำมัน เร่งปล่อยซอฟต์โลนให้เอสเอ็มอี เร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100% ปรับเงื่อนไขการลงทุนจูงใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง