รีเซต

รมว.สุชาติ ย้ำ ม.39, 40 ใน 29 จว.เช็กสิทธิรับเยียวยา 1-31 ต.ค.นี้ ขู่นายจ้างลดสวัสดิการ พนง.ระวังมีโทษ!

รมว.สุชาติ ย้ำ ม.39, 40 ใน 29 จว.เช็กสิทธิรับเยียวยา 1-31 ต.ค.นี้ ขู่นายจ้างลดสวัสดิการ พนง.ระวังมีโทษ!
มติชน
6 กันยายน 2564 ( 16:39 )
147

เมื่อวันที่ 6 กันยายน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานประกันคม (สปส.) ได้ทยอยโอนเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่เดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ตามกำหนดไทมไลน์ของแต่ละกลุ่มจังหวัด

 

 

ทั้งนี้ พบว่า ผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามเงื่อนไข ส่วนใหญ่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีผู้ประกันตนบางส่วนที่พบว่าตนเองมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ครบถ้วน คือ สัญชาติไทย ประกอบอาชีพ หรือพักอาศัยอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ใน 29 จังหวัด แต่เข้าไปตรวจสอบสถานะตนเองในระบบเว็บไซต์ www.sso.go.th ของ สปส. แจ้งว่า “ไม่ได้รับสิทธิ” จึงพลาดการโอนเงินเยียวยาที่ผ่านมา

 

 

“โดย สปส.ได้เปิดให้โอกาสให้กลุ่มผู้ประกันตนที่ตกหล่น สามารถยื่นทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยาได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป” นายสุชาติ กล่าวและว่า ได้มอบหมายให้นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการ สปส.ตรวจสอบข้อมูล เพื่อโอนเงินช่วยเหลือกลุ่มที่มีสิทธิแต่ยังตกหล่นอยู่ ให้ยื่นแบบทบทวนสิทธิ

 

 

สำหรับขั้นตอนผู้ทบทวนสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบคำขอทบทวนสิทธิเยียวยา ได้ที่ www.sso.go.th พร้อมกรอกแบบ ลงลายมือชื่อ ระบุเลขบัตรประชาชนให้ชัดเจน หรือแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบเสร็จ สลิปชำระเงินสมทบ (ถ้ามี) พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ สปส.ติดต่อกลับได้ นำแบบที่กรอกครบถ้วนแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึง สปส.ที่สะดวก 29 จังหวัดสีแดงเข้ม (ยึดวันประทับตามไปรษณีย์เป็นสำคัญ) ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อยัง สปส.ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุชาติ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีนายจ้างหลายรายที่ออกข้อกำหนดลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 โดยการหักค่าจ้าง ลดค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการต่างๆ เช่น ไม่จ่ายโบนัสหรือเงินอื่นๆ จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ ให้ทราบว่า แม้นายจ้างจะมีอำนาจออกประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันโรคโควิด- 19 ให้ลูกจ้างปฏิบัติตามทั้งในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงานก็ตาม แต่นายจ้างไม่สามารถลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการหักหรือลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการต่างๆ ของลูกจ้างได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง และการหักค่าจ้างดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 76 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

 

 

“หากนายจ้างหักค่าจ้างหรือลดค่าจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอม จึงเป็นกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 70 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 144 วรรคหนึ่ง คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้สอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องได้” นายสุชาติ กล่าวและว่า นอกจากนี้ สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง