พาณิชย์ใช้ "อมก๋อย โมเดล" ช่วยเกษตรกรภาคเหนือขายลองกอง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลงพื้นที่ติดตามการส่งออกผลไม้และเป็นประธานลงนามสัญญาการซื้อขาย “ลองกอง” จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ที่อําเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร โดยระบุว่า ลองกองจะออกมากในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม กระทรวงพาณิชย์จึงจะเข้ามาแก้ปัญหาล่วงหน้าในเรื่องของการป้องกันผลผลิตล้นตลาด
ซึ่งสิ่งที่จะนำมาใช้จะเป็น “อมก๋อยโมเดล” นั่นก็คือ เกษตรพันธสัญญา ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพ่อค้า ผู้รับซื้อ ผู้ส่งออกและเป็นหลักประกันให้เกษตรกร เซ็นสัญญาเตรียมส่งออกและกระจายไปตลาดทั่วประเทศล่วงหน้า และเกษตรกรจะมีหลักประกันว่า อย่างน้อยจะขายได้ราคาตามที่กำหนด เป็นสัญญามาตรฐานที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พัฒนาจากพระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา
โดยครั้งนี้มีเกษตรกร 15 กลุ่มจากจังหวัดสุโขทัยและอุตรดิตถ์จำนวน 1,200 ราย มีผู้ซื้อ 9 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจากห้างสรรพสินค้า 5 รายและผู้ประกอบการล้ง 4 ราย มาร่วมลงนาม MOU ซื้อขายลองกองทั้งสิ้น 7,500 ตัน จากผลผลิตภาคเหนือทั้งหมด 21,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 35 ของผลผลิตทั้งปี
ในเรื่องของราคา กำหนดเอาไว้ว่าเกรดส่งออกต้องไม่ต่ำกว่า 20-80 บาทต่อกิโลกรัมแล้วแต่กรณี ซึ่งดีกว่าปีที่แล้วเพราะปีที่แล้วราคาอยู่ที่ 13-18 บาทต่อกิโลกกรัม ส่วนเกรดคละรับซื้อไม่ต่ำกว่า 15-50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาปีที่แล้วอยู่ที่ 9-14 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้จะมีการมอบกล่องไปรษณีย์ให้กับจังหวัดอุตรดิตถ์ 5,000 กล่องและจังหวัดสุโขทัย 5,000 กล่อง เพื่อให้เกษตรกรนอกจากขายผ่านเกษตรพันธสัญญาแล้ว สามารถขายผ่านระบบออนไลน์ด้วย
สำหรับกรณีของส้มโอ ที่ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร มีผลผลิตกว่า 37,000 ตัน สามารถส่งออกไปได้หลายประเทศ โดยปีที่ผ่านมาส่งออกได้ 30,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศกว่า 1,061 ล้านบาท ตลาดใหญ่สุดคือจีน และ 6 เดือนแรกปีนี้ส่งออกไปแล้ว 16,500 ตัน คิดเป็นเงิน 563 ล้านบาท และในปีนี้มีไทยจะสามารถส่งออกส้มโอไปญี่ปุ่นได้เป็นครั้งแรก ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกษตรกรชาวไทย
ข้อมูลจาก : TNN ONLINE
ภาพจาก : TNN