รีเซต

"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน": อาจารย์มหาวิทยาลัย 110 คนออกแถลงการณ์ชี้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ผิดกฎหมาย

"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน": อาจารย์มหาวิทยาลัย 110 คนออกแถลงการณ์ชี้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ผิดกฎหมาย
บีบีซี ไทย
12 สิงหาคม 2563 ( 15:00 )
921
"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน": อาจารย์มหาวิทยาลัย 110 คนออกแถลงการณ์ชี้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ผิดกฎหมาย

คณาจารย์กว่า 100 คนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศออกแถลงการณ์ระบุการปราศรัยบนเวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นการแสดงออกตามกรอบของกฎหมายและเห็นว่าข้อเสนอ 10 ประการของผู้ชุมนุมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้ละเมิดกฎหมาย

 

แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในสังคมถึงความเหมาะสมของการใช้เวทีชุมนุมของนักศึกษา ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์

 

 

เนื้อหาในแถลงการณ์ชี้ว่าการปราศรัยที่เกิดขึ้นนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่มีการพูดถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยอย่างเปิดเผย โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและให้รักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การปราศรัยดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตและเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย ดังบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ระบุว่า

 

"บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน"

 

แถลงการณ์ยังให้เหตุผลว่า การแสดงออกดังกล่าวสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐไทยให้พันธกรณีอย่างกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ก็รับรองเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ข้อ 19

 

ข้อเรียกร้อง 10 ประการของผู้ชุมนุมมิได้ละเมิดกฎหมาย

คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีความเห็นว่าการแสดงออกครั้งนี้เป็นการแสดงออกตามครรลองของกฎหมาย บนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และข้อเสนอทั้ง 10 ประการของผู้ชุมนุมมิได้เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้คือข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

"มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการแสวงหาทางออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมไทย ควรที่จะประกาศเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรต้องยกขึ้นมาวิเคราะห์ถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ มิใช่หลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น" เนื้อหาตอนหนึ่งในแถลงการณ์ระบุ และชี้ด้วยว่ามหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้สังคมไทยเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายและความเห็นต่าง ตราบใดที่ไม่ได้ยุยงให้เกิดความรุนแรงในสังคม

 

คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ลงนามในแถลงการณ์นี้ เชื่อว่าข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ข้อเสนอเหล่านี้เรียกร้องความกล้าหาญในการพูดถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหวในสังคมไทย แทนที่จะเบียดขับข้อเสนอเหล่านี้ออกไป สังคมไทยควรเรียนรู้ที่จะยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยต่อไปในสังคม

 

คณาจารย์ที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น และหลายคนเป็นผู้ที่แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยให้รัฐบาลหยุดปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อ่านรายชื่อได้ที่นี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง