อนุชา ปัด วิจารณ์ 2พส. ไลฟ์สด โยน มส. ดูแล ไม่ใช่เรื่องฆราวาส
อนุชา ปัด วิจารณ์ปม พระมหาสมปอง-พระมหาไพรวัลย์ ไลฟ์สด โยน มส. ดูแล ไม่ใช่เรื่องฆราวาส ชี้ ผู้กระทำต้องคิดทำให้ความคิดแบ่งฝ่ายหรือไม่
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 ก.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมกรณี 2 พระสงฆ์ไลฟ์สดเทศนาธรรม ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของทางพระพุทธศาสนา ส่วนตนเป็นฆราวาส การจะไปวิจารณ์ว่าถูก ผิด เหมาะหรือไม่เหมาะสมก็คงจะไม่เหมาะ เพราะกระแสในสังคมส่วนหนึ่งเป็นกระแสของฆราวาส และกระแสของพระสงฆ์ซึ่งฆราวาสมี 2 แนว ที่มีทั้งความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องปกติ และเรื่องความคิดของคน ไม่สามารถไปตัดสินได้
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในทางพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของมหาเถรสมาคม (มส.) ที่ต้องตัดสิน รวมถึงดูแลขอบเขตการปฏิบัติ เรื่องการเทศนาต่าง ๆ ให้อยู่ในความเหมาะสม เราเป็นคนไทยคนพุทธ มองว่าพุทธศาสนาเป็นเสาหลักเพราะเป็นสิ่งที่เรายึดถือมาช้านาน ที่ประเทศเรามีเอกราชที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะมี 3 เสาหลักที่ยึดเหนี่ยวทำให้เจริญรุ่งเรือง ถ้าตรงนี้ยังอยู่ความขัดแย้งทางการเมืองทางสังคม ทางความคิดต่าง ๆ ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ
นายอนุชา กล่าวอีกว่า แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของแต่ละส่วน ถ้าเราช่วยกันประคับประคองก็อย่าเอาพุทธศาสนาของเราลงมาเลย ส่วนตนให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้น้อยมาก เพราะเราเป็นฆราวาสก็ควรอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาให้เป็นที่พึ่งในยามที่เป็นวิกฤตและสงบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ให้นโยบายเรื่องนี้กับทางมส.อย่างไรบ้าง นายอนุชา กล่าวว่า ให้ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่อย่าพยายามวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจาก พศ. คือ ฆราวาส แต่ส่วนหลักที่จะดูแลกิจของสงฆ์คือ มส.
เมื่อถามว่า ความเห็นอีกมุมมองว่าการนำโซเชี่ยล มาดึงดูดความสนใจให้เยาวชนเข้าถึงธรรมะก็เป็นส่วนที่ดี นายอนุชา กล่าวว่า หากการกระทำต่าง ๆ ไม่มีอะไรแอบแฝง โดยเฉพาะการนำศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใดที่เป็นการแอบแฝงหรือเป็นไปในลักษณะชักนำความคิดเห็นของประชาชนต้องให้มส. วิเคราะห์ตัดสินอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำไปเจตนาดีล้วน หรือไม่ อย่างไร และเชื่อว่าทุกคนคงทราบดี ขอย้ำว่าอยากให้ทุกคนช่วยกันประคองศาสนาของเรา บางครั้งผู้กระทำก็ต้องคิดว่าการกระทำจะทำให้เกิดความคิดแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหรือไม่อย่างไร