รีเซต

‘ธปท.’ สั่งสถาบันการเงินชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ชั้นดี แถมคลอดมาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ฝ่าโควิด-19

‘ธปท.’ สั่งสถาบันการเงินชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ชั้นดี แถมคลอดมาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ฝ่าโควิด-19
มติชน
22 มิถุนายน 2563 ( 16:42 )
178
‘ธปท.’ สั่งสถาบันการเงินชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ชั้นดี แถมคลอดมาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ฝ่าโควิด-19

ธปท.’ สั่งสถาบันการเงินชะลอการยึดทรัพย์ลูกหนี้ชั้นดี แถมคลอดมาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ฝ่าโควิด-19

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ธปท. ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยหลายมาตรการจะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนนี้ ธปท.จึงมีมาตรการเสริมสร้างเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ในเรื่องการบริหารเงินกองทุน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 18.7% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ โดยยืนยันว่า ธปท. ต้องการดำเนินนโยบายเชิงป้องกันมากกว่าการแก้ไข จึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของกองทุน และนำส่งให้ธปท.ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะเป็นการจัดทำแผนบริหารจัดการระดับเงินกองทุนสำหรับระยะ 1-3 ปีข้างหน้า โดยคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตและศักยภาพของลูกหนี้หลังโควิด-19 คลายตัว โดยมาตรการที่ธปท. มีออกมานี้ สอดคล้องกับมาตรการและนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ซึ่งธปท. คาดว่า มาตรการเชิงป้องกันในครั้งนี้ จะสามารถช่วยให้เงินทุนในการให้สินเชื่อแก่ประชาชนและนักลงทุนเพิ่มขึ้น สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายตลอดจนให้ระบบสถาบันการเงินมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนในระยะยาวได้

 

สิ่งแรกที่อยากเห็นคือ การดูแลบริหารจัดการระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็ง มีการ์ดตั้งสูงไว้ เพราะไม่รู้ว่าโควิด-19 จะส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างไร จึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่บสูง ทำให้การประเมินระดับเงินกองทุน เพื่อบริหารจัดการเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญลำดับแรก เพราะระดับเงินกองทุนเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการ สนับสนุนภาวะเศรษฐกิจในช่วงก่อนและหลังโควิด-19 การมีเงินกองทุนสูงถือว่าเป็นผลดี ไม่ใช่เฉพาะสถาบันการเงิน แต่เป็นผลดีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ เพราะสถาบันการเงินเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งคาดหวังผลจากการเสริมสร้างเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้มีเงินทุนในการให้สินเชื่อแก่ประชาชน และภาคธุรกิจได้เพิ่มขึ้น รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฟื้นตัวหลังโควิด-19 เพื่อเป็นกันชนรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และเพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและผู้ลงทุน จึงเป็นที่มาของนักสือเวียนฉบับแรกนายรณดลกล่าว

 

นายรณดลกล่าวว่า นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมระยะที่ 2 ได้แก่ 1.การลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะมีผลช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของประชาชนรายย่อยหลายล้านรายและจะช่วยให้ผู้บริการทางการเงินมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน และมีผลกำไรที่เหมาะสมมากขึ้น 2.การขยายวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จากเดิมจะได้รับวงเงิน 1.5 เท่า ของรายได้ จะขยายเป็น2 เท่า เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และ3.มาตรการพื้นฐานขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งได้ปรับปรุงจากความเห็นและข้อเสนอที่ได้รับฟังจากประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยครั้งนี้จะยึดเอาความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง รวมทั้งขยายขอบเขตให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เพราะคงไม่มีประชาชนกลุ่มใดที่ไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการจำกัดวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์โดยผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องจัดให้มีทางเลือกเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเลือกได้ ตามประเภทสินเชื่อ ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ที่มีสถานะผ่อนชำระปกติ ยังไม่ถูกจัดชั้นเป็นด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) วันที่ 1 มีนาคม 2563 และกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามมาตรการขั้นต่ำ รวมทั้งกลุ่มลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสียแล้ว

 

นายรณดลกล่าวว่า รวมถึงยังได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการทางการเงินให้ชะลอการยึดทรัพย์ (ที่อยู่อาศัย หรือยานพาหนะที่ลูกหนี้ใช้สร้างรายได้) ออกไประยะหนึ่ง เพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตแต่อาจจะมีปัญหาการจ่ายหนี้โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ยังมีที่อยู่อาศัย มีรถใช้ทำมาหากิน และมีโอกาสที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยในระยะถัดไป ประเมินว่าการที่เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกัน จะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก จึงมีการประกาศให้ผู้ให้บริการทางการเงินรายงานข้อมูลจำนวนลูกหนี้ที่มาขอปรับโครงสร้างหนี้ และจำนวนที่ปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ ส่วนรายที่ไม่สำเร็จขอให้ระบุเหตุผลสำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ให้บริการฯได้สำเร็จ สามารถส่งคำขอผ่านมาที่ช่องทางทางด่วนแก้หนี้ใน www.1213.or.th ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ได้ สำหรับแนวโน้มในการเพิ่มทุน น่าจะเร็วไปที่จะประเมิน แต่หากจะเพิ่มเงินระดับเงินกองทุนของแต่ละธนาคารนั้น ก็มีหลายแนวทาง อาทิ การออกหุ้นกู้ การงดการจ่ายปันผลระหว่างกาล ซึ่งจะเป็นกำไรสะสมเพิ่มขึ้น ที่จะไปเพิ่มในเงินกองทุนได้ ก็ล้วนเป็นทางเลือกได้เช่นกันโดยประเมินว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน เชื่อว่ายังไม่ถึงขั้นต้องเพิ่มทุน แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง