นักวิทย์จีน-สหรัฐฯ พบ 'ยีน' เพิ่มความเสี่ยงป่วย 'มะเร็งเม็ดเลือด'
(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเทียนจิน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ทำงานที่ห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน วันที่ 2 ม.ค. 2024)
เซินเจิ้น, 13 ม.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์จากจีนและสหรัฐฯ ได้ค้นพบยีนตัวใหม่ที่อาจเพิ่มแนวโน้มของการเป็นโรคมะเร็งชนิดมัยอิลอยด์ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดดีได้เพียงพอ
รายงานระบุว่าวิธีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดที่มีประสิทธิภาพคือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ แต่การค้นหาผู้บริจาคยังคงเป็นเรื่องยาก คณะนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมุ่งทำความเข้าใจกลไกต่างๆ ของโรคนี้ และแสวงหาวิธีตรวจวินิจฉัยล่วงหน้า
ผลการศึกษาจากวารสารเซลล์ (Cell) เผยว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาความเชื่อมโยงในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ โดยมีการใช้ตัวอย่างทางชีวภาพของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด จำนวน 460,000 ราย จากยูเค ไบโอแบงก์ (UK Biobank) ฐานข้อมูลชีวการแพทย์ขนาดใหญ่
คณะนักวิทยาศาสตร์ได้บ่งชี้ยีนเสี่ยงที่ไม่เคยมีการรายงาน "ซีทีอาร์9" (CTR9) ซึ่งความผิดปกติของยีนตัวนี้อาจนำสู่ความผิดปกติของสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด และอาจส่งผลให้แนวโน้มของการเป็นโรคมะเร็งชนิดมัยอิลอยด์เพิ่มขึ้นสิบเท่า
จ้าวเจียเหว่ย ผู้นำการเขียนงานวิจัย กล่าวว่าอนาคตเราอาจคัดกรองยีนตัวนี้ระหว่างการตรวจสุขภาพเพื่อดูว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดหรือไม่ ทว่าการวิจัยนี้ใช้ข้อมูลของยุโรปเป็นหลัก และยังไม่มีการยืนยันว่าสามารถใช้กับประชากรจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเอเชียและแอฟริกาได้