รีเซต

สบส.-สปสช.ย้ำความมั่นใจตรวจ-รักษาโควิดฟรี! เคสหนักสุดจ่ายทะลุ 1 ล้านบาท

สบส.-สปสช.ย้ำความมั่นใจตรวจ-รักษาโควิดฟรี! เคสหนักสุดจ่ายทะลุ 1 ล้านบาท
มติชน
5 พฤษภาคม 2564 ( 16:00 )
78
สบส.-สปสช.ย้ำความมั่นใจตรวจ-รักษาโควิดฟรี! เคสหนักสุดจ่ายทะลุ 1 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยระหว่างร่วมแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาเชื้อและการรักษาโควิด-19 นั้น รัฐบาล โดย สธ.ต้องการลดภาระให้กับประชาชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะโควิด-19 หลังจากที่ สธ. ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายในภาวะฉุกเฉิน ที่ทุกคนในแผ่นดินไทยต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อลดการติดเชื้อไปสู่ผู้อื่น ลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ สบส.ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการสถานพยาบาล ให้เป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน และให้ทุกสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและทุกสังกัด ต้องรับรักษาผู้ป่วย

 

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ซึ่งมีประกาศออกมา 3 ฉบับ เพื่อดูแลค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่ 1.ค่ายา ค่าห้อง เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย 2.ประกาศเพิ่มเติมในรายการยาให้ครอบคลุมมากขึ้น และ 3.ค่ารถรับส่งผู้ป่วยจากที่บ้าน ค่าทำความสะอาดรถ ค่ารักษาพยาบาลกรณีการเจ็บป่วยหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเป็นกรณีต้องได้รับการรักษาทันท่วงที

 

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานพยาบาลภาคเอกชน ดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว สปสช. ก็จะไปเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะครอบคุม ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าพาหนะรับส่ง ดังนั้น เมื่อมีประชาชนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล หน้าที่ของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องทำ 2 เรื่องคือ 1.ให้การดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย 2.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมา พบกรณีสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย จำนวน 44 เรื่องใน 74 ราย เนื่องจากบางครอบครัวก็เข้าไปรักษาหลายคน ทั้งนี้ สถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยครบทุกรายแล้ว และยังมีเรื่องคงค้างใน เดือนเมษายน อยู่จำนวนหนึ่ง จะมีการสอบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช.1330 และ สายด่วน สบส.1426

 

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ขอยืนยันว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองฟรีในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ทั้งในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยง เข้าไปในสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงการตรวจตามดุลยพินิจของแพทย์ และหากติดเชื้อก็จะต้องรักษาฟรีในโรงพยาบาลทุกสังกัด

 

 

“ทางโรงพยาบาลจะมาเรียกเก็บกับ สปสช. ตามอัตราที่มีการตกลงกับสถานพยาบาลทุกสังกัด และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่ง สปสช.ได้เตรียมงบประมาณไว้หมดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากประชาชน” นพ.จเด็จ กล่าว

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. มีการปรับระบบจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลเอกชนให้เร็วขึ้น โดยตัดรอบบิลทุก 2 สัปดาห์ และรอบล่าสุดจะจ่ายในวันที่ 7 พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางราย มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านบาท ขณะที่บางรายอาการไม่รุนแรง ก็เฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท

 

 

“ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่จัดเป็นโรคระบาดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้เข้าใจระบบการรักษาอาจไม่สะดวกสบายเหมือนกับโรคอื่นตามปกติ ที่สามารถเลือกออฟชั่น หรือบริการเสริม เช่น ห้องพิเศษ ห้องพักเดี่ยว ห้องที่ญาติเข้าเยี่ยมได้ ซึ่งกรณีนี้สำหรับโควิด-19 อาจทำไม่ได้ เพราะญาติที่มาเฝ้า อาจมีการติดเชื้อ และผู้ป่วยบางรายต้องอยู่ในห้องความดันลบเท่านั้น” นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.ได้สำรองงบประมาณไว้สำหรับกรณีโควิด-19 ราว 1.1 หมื่นล้านบาท และได้เบิกจ่ายไปแล้ว 7 พันล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง และอีกครึ่งเป็นค่าตรวจรักษา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง