แบงก์ชาติมอง 'โอมิครอน' กระทบเศรษฐกิจครึ่งแรกปี'65 ห่วงเงินเฟ้อปรับตัวสูง
ข่าววันนี้ นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อว่า ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพียงแต่เห็นว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4% ส่วนในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.7% จากในปี 2564 ที่ขยายตัวได้ 0.9%
นายสักกะภพกล่าวว่า การระบาดของโอมิครอนมีอัตราการแพร่เชื้อสูงกว่า แต่การกระจายการฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างมากทำให้ช่วยลดอาการเจ็บป่วยได้ คาดว่าระบบสาธารณสุขจะยังรับได้ ทำให้ไม่ต้องมีการควบคุมเป็นวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ราว 5.6 ล้านคน ส่วนการระงับมาตรการเดินทางเข้าไทยในรูปแบบ Test & Go นั้น คาดว่าจะเป็นแค่ชั่วคราวในช่วงครึ่งปีแรก แต่ช่วงครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาถึง 90%
นายสักกะภพกล่าวอีกว่า หากดูการฟื้นตัวธุรกิจจะพบว่ามีหลายสาขาธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เช่น เกี่ยวกับภาคการผลิต การส่งออก อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมียอดการผลิตดีขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิด โควิด-19 แล้ว แต่ก็มีหลายอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้ฟื้นตัว อย่างภาคบริการ โรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และมีบางอุตสาหกรรมใช้เวลาการฟื้นตัวนาน เช่น โรงแรม แม้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ 20 ล้านคน ในปี 2566 แต่ยังน้อยกว่าในอดีตที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ทำให้การประมาณการรายได้นอกภาคเกษตรกรรมยังคงติดลบอยู่ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยในปี 2565 ติดลบ 6.26 แสนล้านบาท และปี 2566 ติดลบ 3.27 แสนล้านบาท
“ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อ มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) จากการระบาดของโอมิครอน รวมไปถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะมากกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ไว้ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%” นายสักกะภพระบุ