รีเซต

'หอการค้า' จวกคลังไม่ยอมลดภาษีที่ดิน 90% ผลักภาระให้ปชช. หวั่นกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่

'หอการค้า' จวกคลังไม่ยอมลดภาษีที่ดิน 90% ผลักภาระให้ปชช. หวั่นกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่
มติชน
17 มกราคม 2565 ( 20:58 )
88
'หอการค้า' จวกคลังไม่ยอมลดภาษีที่ดิน 90% ผลักภาระให้ปชช. หวั่นกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่

“หอการค้า” จวกคลังไม่ยอมลดภาษีที่ดิน 90% ผลักภาระให้ปชช. หวั่นกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ ”มท.” คาดท้องถิ่นเก็บรายได้เพิ่ม 4.2หมื่นล้าน

 

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 สภาหอการค้าทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้ “ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” 90% อีก 2 ปี (2565-2566) เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ทุเลา แต่กระทรวงการคลังยืนยันจะไม่ลดภาษีให้อีก เพราะกลัวกระทบรายได้ท้องถิ่นที่รัฐบาลต้องจัดงบประมาณชดเชยให้นั้น ขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าอย่ามองแค่รายได้ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนและภาคเอกชน ยังมีปัญหารุมเร้าจากโควิดและสภาวะเศรษฐกิจ การที่สภาหอการค้าออกมาดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกภาคธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

ฉะรัฐมองแคบ-ห่วงแต่รายได้

“รัฐเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีเฉพาะคนรวยได้ประโยชน์ จริงๆได้ประโยชน์ทุกกลุ่ม ทุกระดับรายได้ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่รัฐจะผลักภาระภาษีให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เพราะไม่มีรายได้และความพร้อมจะชำระ เมื่อมีภาระเพิ่มจะกระทบต่อสภาพคล่อง การลงทุน และกระทบถึงฐานภาษีอื่นด้วย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากขึ้น ผมว่ารัฐมีมุมมองแคบไปนิดหนึ่ง ถ้าภาระนี้มันมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อการปลดคนงานที่เอกชนกัดฟันแบกภาระอยู่ในขณะนี้ด้วย” นายอธิปกล่าว

 

นายอธิปกล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ เป็นบ้านหลังที่2 บ้านพักตากอากาศ และผู้ซื้อเพื่อลงทุนและปล่อยเช่า ทั้งผู้ซื้ออยู่เดิมและจะซื้อใหม่อาจจะชะลอการตัดสินใจ เนื่องจากบ้านหลังหลักราคาไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับยกเว้น ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาฯไม่ได้รับผลกระทบเพราะได้รับการลดหย่อนภาษีใน 3 ปีแรกอยู่แล้ว โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ถือครองที่ดินเปล่า เจ้าของธุรกิจด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม โรงงาน โรงแรม ร้านค้า และการเก็บภาษีที่ดิน100% นั้นรัฐควรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน

 

ทุบมู้ดตลาดคอนโดฯ

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า กรณีกระทรวการคลังไม่ลดภาษีที่ดิน90% จะกระทบต่อตลาดคอนโดมิเนียมมาก เพราะคอนโดฯเป็นบ้านหลังที่สองของลูกค้าที่ซื้ออยู่เนื่องจากเดินทางสะดวกและใกล้ที่ทำงาน ถ้าต้องเสียภาษี100% จะทำให้มีภาระมากขึ้นและฉุดการตัดสินใจของลูกค้า ขณะที่ตลาดอสังหาฯยังไม่ฟื้น ยังอยู่ในอาการที่รอเวลาอยู่ ซึ่งในปี 2564 กำลังซื้อคอนโดฯลดไป 30% ถ้ารัฐบาลไม่สามารถช่วยกระตุ้นธุรกิจได้ ก็อย่าทำให้มันตายไปกว่านี้อีก

 

แนะรัฐควรแยกกลุ่ม-เก็บทีละสเต็ป

“ถ้าเป็นไปได้ขอให้คลังแยกแยะ ที่ดินดั้งเดิม ไม่ทำประโยชน์ หรือซื้อเก็งกำไรให้เก็บภาษีตามเจตนของกฎหมาย ส่วนที่ดินซื้อมาพื่อพัฒนาโครงการ ควรจะได้รับการยกเว้นได้ เพราะเป็นธุรกิจ ถ้าสร้างภาระเพิ่ม จะถูกผลักไปที่ราคาขายคอนโดแพงขึ้น ภาระจะตกอยู่ที่ผู้ซื้อ ถ้ารัฐไม่สามารถแยกย่อยได้ เพราะเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน อาจจะค่อยๆเก็บที่ละสเต็ป ทำให้เกิดการปรับตัว และท้องถิ่นจะมีรายได้มากขึ้น จะวิน-วินทั้งสองฝ่าย”นางอาภากล่าว

 

ท้องถิ่นคาดมีรายได้ 4.2 หมื่นล้าน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากกระทรวงการคลังว่าจะไม่ลดภาษีที่ดิน 90% ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังยืนยันในปีนี้จะเก็บ100% ทำให้ในปี 2565 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มีรายได้จากภาษีที่ดิน 42,686.71 ล้านบาท แยกเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 9,610.62 ล้านบาท เทศบาลตำบล 7,241.09 ล้านบาท เทศบาลเมือง 5,082.53 ล้านบาท เทศบาลนคร 4,091.57 ล้านบาท กรุงเทพมหานคร(กทม.) 15,988.4 ล้านบาท เมืองพัทยา 672.5 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2563และ2564 ที่จัดเก็บได้ 3,535.65 และ4,268.66 ล้านบาทตามลำดับ เป็นผลจากการที่รัฐลดภาษีที่ดิน90% เพื่อบรรเทาภาระผู้เสียภาษีจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้แค่ 10% ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่นขอรัฐชดเชยรายได้ของปี 2563และ2564 โดยปี 2563 ได้รับเงินชดเชยแล้ว ยังเหลือปี 2564

 

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผลจาก 2 ปีที่รัฐบาลให้เก็บภาษีที่ดิน10% ทำให้ท้องถิ่น 7,800 แห่ง มีรายได้หายไป 90%หรือปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยปี 2563ได้รับเงินชดเชยรายได้จากรัฐบาลแล้ว 10,067 ล้านบาท ในส่วนของเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนกทม. เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ยังไม่ได้รับจากที่ขอไป 22,030 ล้านบาท ส่วนปี 2564 ยังไม่ได้รับสัญญาณจากรัฐบาลให้ยื่นคำขอชดเชยไป

 

กทม.ส่งใบแจ้งประเมินก.พ.เริ่มเก็บเม.ย.นี้

แหล่งข่าวจาก กทม. เปิดเผยว่า ในปี2564 กทม.จัดเก็บภาษีที่ดินได้ 1,800 กว่าล้านบาท ในปี 2565 หากรัฐให้เก็บที่ 100% ประเมินว่าจะมีรายได้ 15,000-18,000 ล้านบาท โดยกทม.มีบัญชีผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นโฉนดที่ดิน 2.7 ล้านแปลง อาคารชุด 1 ล้านยูนิต และสิ่งปลูกสร้าง 3 ล้านหลัง ตามขั้นตอนจะส่งใบประเมินภาษีให้กับผู้เสียภาษีในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และชำระในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565

 

อย่างไรก็ตามมองว่าการที่รัฐบาลเก็บภาษีที่ดิน100% ถือเป็นการดี เนื่องจากท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งมองว่ารัฐบาลผลักภาระให้ท้องถิ่นผู้เก็บภาษี เพราะดูแล้วเมื่อประชาชนมีภาระเสียภาษีเพิ่มขึ้นอาจจะมีการโต้แย้งการจัดเก็บ

 

เปิดอัตรจัดเก็บปี2565-2566

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565-2566 ซึ่งเป็นอัตราเดิมที่จัดเก็บในปี 2563-2564 แยกเป็น 1.ที่ดินประกอบเกษตรกรรม จัดเก็บ 0.01 – 0.1%

 

2. ที่อยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02 – 0.1% หากเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาจัดเก็บ 0.03 – 0.1% และสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจัดเก็บ 0.02 – 0.1% และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่น จัดเก็บ 0.02 – 0.1%

 

3. ที่ดินใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย จัดเก็บ 0.3 – 0.7% และ4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ จัดเก็บ 0.3 – 0.7%

 

ทั้งนี้ในปี 2567 กระทรวงการคลังจะมีการทบทวนอัตราอีกครั้ง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง