VNGตั้งเป้าผลงานโตต่อ ตุนออเดอร์ยาวถึงQ2/66
#VNG #ทันหุ้น –VNGตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปี 2566 เติบโต 10% ออเดอร์เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีออเดอร์ยาวถึงไตรมาส 2/2566 แถมรับอานิสงส์ลดต้นทุน ย้ำแผนรุกฐานค้าปลีกในประเทศ เจาะฐานลูกค้ากลุ่มรับเหมา-ประชาชนทั่วไป รับติดตามค่าเงินที่ผันผวนอาจกดดันศักยภาพทำกำไร
นายวรรธนะ เจริญนวรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วนชัย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ VNG เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปี 2566 เติบโตขึ้น 10% จากรายได้รวมปี 2565 ที่ทำได้ราว 1.3 หมื่นล้านบาท หนุนจากการรับรู้รายได้เต็มปีของผลิตภัณฑ์แผ่น OSB หลังจากที่บริษัทได้ปรับสูตรของผลิตภัณฑ์ (Specification) ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว, ควบคู่กับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หลักทั้งไม้อัด (Plywood), แผ่นไม้ MDF (Medium Density Fiberboard), และแผ่นไม้ปาร์ติเกิ้ล (Particle Board) ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และภูมิภาคเอเชีย
*เดินหน้าลดต้นทุน
ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับอานิสงส์จากการดำเนินกลยุทธ์ปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ การปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถใช้วัตถุดิบได้ทุกประเภทโดยเฉพาะการใช้ไม้ที่มีขนาดเล็กส่งผลให้มีต้นทุนไม้ลดลง 40-50%, เพิ่มความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Finished product) ได้เอง, รวมถึงโครงการโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 12.7 เมกะวัตต์ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ
“บริษัทผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ ซึ่งรับเข้ามาล่วงหน้าเฉลี่ย 2 เดือน ดังนั้น ณ ปัจจุบันจึงมีคำสั่งซื้อยาวไปจนถึงไตรมาส 2/2566 แล้ว ทั้งยังดำเนินงานตามแผนลดต้นทุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะค่าไฟที่คาดว่าจะประหยัดได้ราว 120 ล้านบาทต่อปี และต้นทุนค่าขนส่งหลังจากที่บริษัทเริ่มกลับมาทำระบบ Logistic เองบางส่วน ดังนั้นปีนี้จึงไม่มีแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ใดๆ ถือเป็นปีที่จะรับรู้ผลจากการลงทุนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแผ่น MDF และแผ่นไม้ปาร์ติเกิ้ล ซึ่งมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นราว 10% YoY”
*ขยายฐานค้าปลีก
พร้อมกันนี้ ยังคงมุ่งขยายฐานการตลาดค้าปลีกในประเทศ โดยตั้งเป้าให้ “ดีโป บาย วนชัย” (Depot by Vanachai) เป็นศูนย์รวมผู้ผลิตและผู้เชี่ยวชาญวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้าน มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าทั้งในฝั่งผู้ผลิต (B2B-Business to Business) และผู้บริโภค (B2C-Business to Consumer) ด้วยทำเลที่ตั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมสำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภูมิภาคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก ทั้งยังอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งยังมีศักยภาพในการเติบโตทั้งอุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย, อาคารสำนักงาน, สถาบันการศึกษา และโรงงานอุตสาหกรรม
“บริษัทเริ่มกลับมารุกธุรกิจค้าปลีกอย่างจริงจังหลักสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จึงต้องประเมินทิศทางตลาดอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็วางแผนที่จะเจาะเข้าทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน, สถาปนิกตกแต่งภายใน, และประชาชนที่ต้องการปรับปรุง-ตกแต่งบ้าน ฯลฯ”
ติดตามความเคลื่อนไหวค่าเงิน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการส่งออกสูงถึง 80%ของรายได้รวมทั้งปี จึงยังต้องติดตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลต่อศักยภาพการทำกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการขายในประเทศ จึงเริ่มรุกเข้าสู่ตลาดค้าปลีกด้วยตัวเอง โดยระยะยาวยังหวังจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในประเทศให้มากขึ้น