รีเซต

อีสานโพล เผยผลสำรวจ คนไทยส่วนใหญ่พร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ

อีสานโพล เผยผลสำรวจ คนไทยส่วนใหญ่พร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
มติชน
15 ธันวาคม 2564 ( 18:57 )
95

ข่าววันนี้ รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า ศูนย์บริการวิชาการด้านบริหารธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มทร.อีสาน ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ เกี่ยวกับ การก้าวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด “Cashless Society” ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศนโยบายในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดและการใช้เงินดิจิทัลนั้น จะเห็นได้ว่าจากที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ ยิ่งใช้ยิ่งได้ เราเที่ยวด้วยกัน หรืออื่น ๆ นั้น มีการให้ใช้จ่ายเงินผ่านระบบแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคยและมีความกล้าใช้เงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น

 

จากการสำรวจประชาชน จำนวน 798 ราย พบว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 86.7 นิยมใช้จ่ายผ่านระบบ e-Payment มากที่สุด รองลงมาคือการใช้บัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต คิดเป็นร้อยละ 60.9 เนื่องจากมีความเห็นตรงกันกว่าร้อยละ 86 ว่าช่วยลดความเสี่ยงจากการถือเงินสดได้ รวมถึงลดการสัมผัสเชื้อโรคจากเงิน มีบริการให้เลือกใช้งานหลายรูปแบบ สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้รวดเร็วตามลำดับ ทั้งนี้แม้ว่าการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลนั้นจะช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย แต่ทว่าประชาชนยังคงมีข้อกังวลในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน เช่น กว่าร้อยละ 81.7 เห็นพ้องว่า การโจรกรรมข้อมูลทางไซเบอร์นั้นน่ากังวลมากที่สุด รองลงมาคือการหลอกลวงจากมิจฉาชีพทางโซเซียลมีเดีย และอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นได้

 

ทั้งนี้หากจะเข้าสู่ยุคของสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ประชาชนร้อยละ 89.7 ต้องการให้ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านคาเฟ่ เปิดรับระบบการใช้จ่ายดิจิทัลมากที่สุด รองลงมาคือประเภทร้านค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก หรือโรงแรม และ ตลาดสด ตามลำดับ พร้อมทั้งยังให้ความเห็นถึงปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย 1. ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของประชาชน 2. การพัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชันทางการเงินที่ตอบสนองผู้ใช้งาน 3. โครงข่ายโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ และ 4. นโยบายขับเคลื่อนจากภาครัฐ และสำหรับในภาพรวมแล้วประชาชนส่วนมากร้อยละ 39.1 มีความพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่ในขณะเดียวกันร้อยละ 26.1 ยังคงไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 34.8 ยังไม่มีความพร้อม

 

“ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการใช้เงินของคนในประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการให้บริการชำระผ่าน QR Code มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นช่องทางสำหรับผู้ไม่ประสงค์ดีในการทุจริตหรือฟอกเงินได้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ประกาศนโยบายการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้าสำหรับการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Know Your Merchant : KYM) เพี่อให้สถาบันทางการเงินใช้เป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำในการกำหนดกระบวนการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้าได้ โดยจะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565 นี้ ทั้งนี้ด้าน มทร.อีสาน ได้มีมาตรการที่สอดรับกับการเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดด้วยเช่นกัน เช่น การจัดทำแอปพลิเคชัน RMUTI CONNECT ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงจังหวัดนครราชสีมาเองได้เริ่มมีนโยบายให้ร้านค้าต่าง ๆ ในจังหวัดเปิดรับการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขับเคลื่อนสู่ยุคสังคมไร้เงินสดแล้วด้วยเช่นกัน ” รศ.ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง