"มนัญญา" เตรียมเรียกกรมวิชาการเกษตรหารือ ก่อนประชุมคกก.วัตถุอันตราย 30 เม.ย.นี้
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้มีการเลื่อนการยกเลิกการใช้ (แบน) พาราควอต และคลอไพริฟอส ไปจนถึงสิ้นปี 2563 จากเดิมที่จะมีกำหนดการแบนในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น มองว่าก่อนหน้านี้มีภาคเอกชนหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการแบนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตอนนี้ถึงกลับคำ ทั้งที่ทุกอย่างเริ่มมีความชัดเจนแล้ว ทั้งขอบเขตการใช้ และการแบนฯ
“ในวันที่ 28 เมษายนนี้ ดิฉันได้เรียกกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าาหารือร่วมกัน รวมถึงจะให้กรมวิชาการเกษตรชี้แจ้งข้อมูลก่อนที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 30 เมษายน 2563 โดยเบื้องต้นจะเสนอให้โรงงานผู้ผลิตสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอไพริฟอส ต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมีห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน รองรับโดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย” นางสาวมนัญญากล่าว
นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ข้อเสนอดังกล่าว ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย 143 โรงงาน โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการของโรงงาน เบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานหรือการดำเนินการตรวจสอบการใช้สารเคมีเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น
นางสาวมนัญญา กล่าวต่อว่า ในเรื่องของสารเคมีที่จะมาทดแทน พาราควอต และคลอไพริฟอส นั้น หากจะหาสารทดแทนคงเกิดการใช้สารเคมีไม่มีวันสิ้นสุด แต่ทางกรมวิชาการเกษตร ก็ได้ศึกษาในเรื่องนี้อยู่ ส่วนตนได้มีการสนบสนุนให้เกษตรกรปรับตัวมาทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้จากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้เกษตรกรสนใจและปรับตัวมาทำเกษตรอนทรย์เป็นจำนวนมาก และคาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกด้วย