ทบทวนกลุ่มเป้าหมาย 'ฉีดวัคซีน' อีกครั้ง ปลัด สธ.ย้ำยังไม่มีข้อมูลฉีด 2 เข็มสลับยี่ห้อ แนะใช้แบบเดียวกัน

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย” โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข และ MR.YANG XIN (นายหยาง ซิน) อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมพิธี
นายอนุทินกล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวคที่ได้รับในวันนี้เป็นงวดแรก จำนวน 200,000 โดส เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเอชแอล (ประเทศไทย) จากนั้น องค์การเภสัชกรรม จะดำเนินการตรวจรับและกระจายให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด
นายอนุทินกล่าวว่า สำหรับวัคซีนงวด 2 จำนวน 800,000 โดส จะส่งมอบในเดือน มี.ค. และงวด 3 จำนวน 1 ล้านโดส ในเดือน เม.ย.2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรม ร่วมมือกับบริษัท ดีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดส ภายในห้องจัดเก็บความเย็น และจัดส่งกระจายภายใต้มาตรฐานสากล ควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 2-8 องศาเซลเซียส ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชน ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
สำหรับ เป้าหมายการฉีดวัคซีน ระยะแรก เดือน มีนาคม-พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส จะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมใน 18 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันตก) ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ตา ก (อ.แม่สอด) นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เชียงใหม่ กระบี่ ระยอง จันทรบุรี ตราด และเพชรบุรี
โดยฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขด่านหน้า อสม. บุคลากรด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ประชาชนทั่วไป และแรงงานที่มีอายุ 18-59 ปี เน้นผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน โดยให้แพทย์ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาในโรงพยาบาล
ด้าน นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า วัคซีนผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ซึ่งเชี่ยวชาญการวิจัยพัฒนา ผลและจำหน่วยวัคซีนป้องกันโรคระบาด ที่ผ่านมาผลิตวัคซีนหลายตัว เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก สำหรับวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า โคโรนาแวค (CoronaVac) ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดี้ต้านโควิด-19 โดยแอนติบอดี้จะไปยึดติดกับโปรตีนบางส่วน ของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า วัคซีนเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันโรค และสามารถเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยมีการศึกษาในคนระที่ 1-2-3 และในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลีแล้ว มีรายงานว่ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศจีนแล้ว
“การฉีดวัคซีนโควิด-19 CoronaVac อนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีข้อแนะนำว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ฉีดในประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ และมีการติดตามเฝ้าระวังอาการภายหลังได้รับวัคซีนเป็นระยะเวลา 30 วันหลังฉีด
“ในพื้นที่มีการระบาดรุนแรง แนะนำให้ฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ ห้ามฉีดให้กับผู้ป่วยเรื้อรังที่อยู่ในภาวะควบคุมไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะทางระบบประสาทอย่างรุนแรง หญิงตั้งครรภ์ และควรจะวังในการฉีดในกลุ่มหญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
“นอกจากนี้ สามารถให้โควิด-19 ร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่นได้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 14 วัน และขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิดกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็มควรจะเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ด้าน พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานในที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เที่ยวบินขาส่งสินค้าของการบินไทย เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เที่ยวบินขนส่งสินค้า TG 675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร ณ เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐประชาชนจีนอำนวยความสะดวกให้เที่ยวบินนี้เดินทางมาถึงประเทศไทยเร็วกว่าที่กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพของวัคซีน และสามารถจัดส่งไปยังคลังโดยเร็วที่สุด มีการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ชนิดปรับควบคุมอุณหภูมิได้ ระหว่าง -20 องศาเซลเซียส ถึง +20 องศาเซลเซียส รวมถึงอุปกรณ์ภาคพื้นดิน และรถ Truck Cold Room เพื่อรักษาอุณหภูมิ พร้อมเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญการขนส่งสินค้าประเภทต้องควบคุมอุณหภูมิ
Tag
บทความน่าสนใจอื่นๆ
