กู้ออนไลน์ อย่างไร? ไม่ให้โจรหลอก
"กู้เงิน" ทางเลือกของคนที่ต้องการใช้เงินในเรื่องต่าง ๆ และต้องยอมรับว่าการกู้เงินในยุคปัจจุบันทำได้งาน รวดเร็ว แค่ทำในมือถือของคุณผ่านอินเทอร์เน็ด เข้าแอปกู้เงิน แถมจะกู้เงินที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องออกจากบ้านให้เสี่ยงโควิด-19 ด้วย และแม้ว่าการ "กู้เงินออนไลน์" จะง่ายแต่สิ่งที่ยุ่งยากสำหรับ "ผู้กู้" คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือ "ผู้ให้กู้" ที่ไม่คิดดอกเบี้ย หรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่โจร ไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเราไปเหมือนอย่างที่เป็นข่าวบนสังคมออนไลน์
ยิ่งหากได้รับ "SMS" หรือมีคน "โทรศัพท์" หรือ "แอดไลน์" (add Line) มาแล้วอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้ ให้เงินช่วยเหลือ เมื่อเจอแบบนี้ "ห้ามกดลิงก์ หรือกอกข้อมูลส่วนตัวเด็ดขาด สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกเลยคือ "เช็กให้ชัวร์ก่อน" จะได้ไม่ถูกหลอก
วันนี้ TrueID มีข้อมูลดี ๆ จากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ความรู้และเทคนิคในการกู้ออนไลน์...ต้องรู้ทันโจร ซึ่งมีคำแนะนำที่เรา ๆ ทั้งหลายที่กำลังหา "แหล่งเงินกู้" เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ชีวิตได้เท่าทันกลโกง หากเจอภัยไซเบอร์ที่ทุกวันนี้มีหลากหลายรูปแบบอาจเผลอหลงกลจนอาจนำไปสู่การถูกถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว ถูกหลอกให้เสียเงินที่หามาทั้งชีวิตได้
1. แยกแยะผู้ให้เงินกู้
ศคง. 1213 ยกตัวอย่าง ซึ่งมาดูกันว่าผู้ให้บริการ 3 แห่งด้านล่างนี้ ใครคือผู้ให้กู้ในระบบ ผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ
แอปพลิเคชัน A
- ให้เงินกู้เต็มจำนวน
- อัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด
แอปพลิเคชัน B
- ได้เงินไม่เต็มจำนวน แต่ต้องจ่ายคืนเต็มจำนวน
- ดอกเบี้ย/ค่าปรับสูง
- ระยะเวลาชำระคืนสั้น
- โทรทวงหนี้ ข่มขู่และคุกคาม
แอปพลิเคชัน C
- ให้โอนเงินไปเป็นค่าใช้จ่าย เช่น ค่าค้ำประกัน ค่าดำเนินการ ค่าลัดคิว โดยบอกว่าถ้าไม่จ่าย จะไม่โอนเงินกู้ให้
- หลอกให้โอนเงินเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายไม่ได้ให้กู้จริง
เห็นแบบนี้แล้วแยกแยะออกกันใหม่ว่า แอปกู้เงิน ของผู้ให้บริการคนไหนที่ไม่ใช่ ผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ
คำตอบ คือ แอปพลิเคชั่น A เป็นผู้ให้กู้ในระบบหรือผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต (แอป A) จะให้เงินกู้เราเต็มจำนวน และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด
2. ไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งคลิก
หากลองแยกแยะแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าจะใช่ผู้ให้กู้ในระบบหรือเปล่า ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ ดังนี้
- ตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ นำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th) ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว
- ติดต่อสอบถามตามที่อยู่ / เบอร์โทรศัพท์ที่ได้จากข้อ 1) เพราะบางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปเงินกู้นอกระบบจะตั้งชื่อแอปคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาต เราจึงควรสอบถามหรือหาข้อมูลด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปของผู้ให้บริการจริงหรือไม่
- เลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ และไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ถูก jail break ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อป้องกันภัยจากมัลแวร์
- อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้ ไม่รีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเราโดยควรกู้เท่าที่จำเป็น และรวมภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนของเราต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือนเพื่อไม่เกินกว่าที่เราจ่ายคืนได้
และนี่คือ ข้อความรู้ที่ผู้กู้ที่ต้องการเงินด่วนต้องรู้ไว้ เพื่อจะได้เท่าทันกลโกงคนที่ให้กู้นอกระบบ หรือพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย แต่ถ้าเผลอโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือหากต้องการขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อ ศปอส.ตร. (ตำรวจ PCT) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599 กันนะ
รู้ไว้จะได้ไม่โดนหลอก
ข่าวเกี่ยวข้อง :