รีเซต

ฉีดวัคซีนสลับชนิด บูสเข็ม 3 ได้ สธ.คาดอีก 3-6 เดือน เริ่มในปชช.ทั่วไป

ฉีดวัคซีนสลับชนิด บูสเข็ม 3 ได้ สธ.คาดอีก 3-6 เดือน เริ่มในปชช.ทั่วไป
มติชน
4 สิงหาคม 2564 ( 14:04 )
69
ฉีดวัคซีนสลับชนิด บูสเข็ม 3 ได้ สธ.คาดอีก 3-6 เดือน เริ่มในปชช.ทั่วไป

 

จากกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สลับชนิด หรือ ฉีดไขว้ โดยเข็มที่ 1 วัคซีนซิโนแวค และ เข็มที่ 2 ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ หรือที่เรียกว่าสูตร SA หากประชาชนได้รับสูตรนี้ไปแล้วจะสามารถฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 3 เป็นชนิด mRNA ได้หรือไม่ นั้น

 

 

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เรื่องนี้ความกังวลมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ความปลอดภัย ด้วยวัคซีนแต่ละชนิดที่ฉีดในขณะนี้ยังเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีความปลอดภัยสูง สำหรับประเทศไทยก็ฉีดสะสมเกือบ 20 ล้านโดส แล้ว ยังไม่พบการเสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง ดังนั้น วัคซีนที่ใช้เป็นสูตรสลับ 2 ชนิด มีความปลอดภัย

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนความกังวลที่ว่า ฉีดสลับชนิดแล้วมีความปลอดภัยหรือไม่ ตามข้อมูลล่าสุด ได้มีการฉีดวัคซีนสูตรสลับไปแล้วมากกว่า 1 แสนคน ยังไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ข่าวที่ระบุว่ามีการเสียชีวิตนั้น มีผลการชันสูตรพลิกศพพิสูจน์ชัดเจนว่า เกิดจากเนื้องอกในสมอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัคซีน ดังนั้น มั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน

 

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า 2.ประสิทธิภาพของวัคซีนสลับชนิด ข้อมูลจากการศึกษาชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีการตีพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการในเร็วๆ นี้ โดยทางวิชาการแพทย์พิสูจน์แล้วว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิด สูตร SA ประสิทธิผลในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) พบว่า มีการสร้างภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ ฉะนั้น ไม่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ดังนั้น ประเทศไทยจึงพยายามใช้สูตรนี้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กลุ่มเป้าหมายโดยเร็วที่สุด

 

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่า จะมีการบูสเตอร์เข็ม 3 ให้กับประชาชนเมื่อไรนั้น สำหรับสูตร SA ที่ สธ.เพิ่งเริ่มฉีดไปไม่นาน ซึ่งการจะฉีดเข็ม 3 มีคำถามสำคัญว่า จะฉีดหลังจากเข็ม 2 เมื่อไร ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัดเจน แต่ทั่วไป จะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หรือนานกว่านั้น “ตอนนี้เราต้องเก็บข้อมูล และคอยดูว่า ระยะ 3-6 เดือนที่รับวัคซีนไปแล้ว ภูมิคุ้มกันจะตกหรือไม่ อย่างไร แล้วต้องกระตุ้นอีกหรือไม่ ทั้งนี้ ก็จะเป็นการศึกษาข้อมูลและวิจัยเพิ่มเติมซึ่งใช้แนวทางนี้เหมือนกันทั่วโลก เรื่องบูสเตอร์โดส ทั่วโลกก็จะเหมือนกันในการวิจัยว่า 1.จะบูสเตอร์ด้วยอะไร และ 2.ระยะห่างแค่ไหน จึงจะมั่นใจว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่อยู่ได้นานพอ” นพ.โอภาส กล่าว

 

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เบื้องต้น ในทางทฤษฎีหากมีการฉีดวัคซีนแพลตฟอร์มต่างกัน ที่เป็นการกระตุ้นภูมิฯ คนละระดับ ก็จะส่งผลดี อย่างเช่น วัคซีนซิโนแวค เป็นการกระตุ้นภูมิระดับ Humoral immunity ส่วนแอสตร้าฯ จะเป็นระดับ Cellular immunity ซึ่งมีข้อดีต่างกัน ดังนั้น 2 ตัวนี้ ก็จะเสริมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการอาศัยข้อมูลทางวิชาการและติดตามข้อมูลอีกระยะหนึ่ง

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากฉีดสูตร SA แล้วระยะหนึ่ง มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการฉีดวัคซีนเป็นโปรแกรมใหม่เลย เช่น วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม นพ.โอภาส กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น เนื่องจากหากมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว อย่างน้อยร่างกายจะมีภูมิฯ โดยจะมีเซลล์ที่จดจำภูมิคุ้มกัน พอฉีดเข้ามาอีก 1 เข็ม ก็จะเป็นการกระตุ้นภูมิฯ ได้เร็วมาก

 

 

“ทฤษฎีของบูสเตอร์ คือไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ดังนั้น เมื่อมีการฉีดวัคซีนเพิ่มเข้าไปก็จะมีการกระตุ้นภูมิฯ ได้เร็วมาก เพราะเซลล์ร่างกายเราจดจำไวรัสได้ แต่มีแนวโน้มในการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย 2 เหตุผล คือ 1.ไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งหากไม่มีสายพันธุ์เดลต้า โลกเราจะอยู่ง่ายกว่านี้เยอะ และ 2.เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีการกลายพันธุ์ไปอีกอย่างไร เป็นสิ่งที่ทํานายไม่ได้ ดังนั้น ต้องติดตามข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง