รีเซต

สรุปยอด 31 ผู้สมัครชิง 'ผู้ว่าฯ' ด้านส.ก.เกือบ 400 คน กทม.ขอ 7 วันเช็กคุณสมบัติ

สรุปยอด 31 ผู้สมัครชิง 'ผู้ว่าฯ' ด้านส.ก.เกือบ 400 คน กทม.ขอ 7 วันเช็กคุณสมบัติ
มติชน
4 เมษายน 2565 ( 18:02 )
97
สรุปยอด 31 ผู้สมัครชิง 'ผู้ว่าฯ' ด้านส.ก.เกือบ 400 คน กทม.ขอ 7 วันเช็กคุณสมบัติ

ข่าววันนี้ 4 เมษายน ที่ศาลาว่าการ กทม. เขตดินแดง นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) พร้อมด้วย นายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธาน กกต.ทถ.กทม. นายอภิชัย ทองประสม กกต.ทถ.กทม. ร่วมแถลงผลการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)

 

นายขจิต แถลงว่า วันนี้เป็นวันที่ 5 หรือวันสุดท้ายของการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ปรากฏว่ามีผู้สมัครรับผู้ว่าฯ กทม. เพิ่มเติมอีก 2 คน ได้แก่ หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา ผู้สมัครอิสระ

 

ทั้งนี้ผลการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเมื่อครบกำหนดเวลาการรับสมัคร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. รวมจำนวน 31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน โดยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มีอายุมากที่สุด คือ นายวิทยา จังกอบพัฒนา อายุ 75 ปี ส่วนผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุด คือ หมายเลข 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อายุ 43 ปี โดยเรียงตามหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้

 

หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล หมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล อิสระ หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล อิสระ หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ อิสระ หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อิสระ หมายเลข 7 นางสาวรสนา โตสิตระกูล อิสระ หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อิสระ หมายเลข 9 นางสาววัชรี วรรณศรี อิสระ หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์ อิสระ

 

หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้าง หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ อิสระ หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา อิสระ หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที อิสระ หมายเลข 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อิสระ หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ อิสระ หมายเลข 18 นางสาวสุมนา พันธุ์ไพโรจน์ อิสระ หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค อิสระ หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ อิสระ หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ อิสระ หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ อิสระ หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์ อิสระ หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต อิสระ หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ อิสระ หมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ อิสระ หมายเลข 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ อิสระ หมายเลข 28 นายสราวุธ เบญจกุล อิสระ หมายเลข 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม อิสระ หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม อิสระ และ หมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา อิสระ

 

 

ทั้งนี้ นายขจิต กล่าวว่า จำนวนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้มากกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อปี 2556 ที่มีเพียง 25 คน ส่วนผลการรับสมัครรับเลือกตั้งส.ก. วันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้าย มีสมัครเพิ่มจำนวน 13 ราย ใน 11 เขต ได้แก่ เขตดุสิต 2 ราย เขตสะพานสูง 2 ราย เขต บางกะปิ 1 ราย เขตยานนาวา 1 ราย เขตพญาไท 1 ราย เขตห้วยขวาง 1 ราย เขตราษฎร์บูรณะ1ราย เขตบึงกุ่ม 1 ราย เขตบางแค 1 ราย เขตบางนา 1 ราย เขตทุ่งครุ 1 ราย

 

“รวมมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. 50 เขต รวมจำนวน 382 คน จากเดิม 200 กว่าคน โดยสำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. มากที่สุด ได้แก่ เขตสวนหลวง และเขตดุสิต จำนวน 10 คน สำนักงานเขตที่มีผู้สมัคร ส.ก. น้อยที่สุด จำนวน 8 เขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และ เขตคันนายาว โดยมีผู้สมัคร จำนวน 6 คน” นายขจิต กล่าว

 

ปลัด กทม. กล่าวว่า สำหรับผู้สมัครที่ประสงค์จัดทำประกาศหรือแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถจัดทำได้ 2 ดังนี้ 1.ประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง 2.ป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร จำนวนไม่เกิน 5 เท่า ของหน่วยเลือกตั้ง โดยขอความร่วมมือผู้สมัครรับเลือกตั้งในเรื่องการปิดประกาศและการติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นได้ประกาศกำหนด

 

นอกจากนี้ ผู้สมัครสามารถดำเนินการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ยูทูป แอพพลิเคชั่น อีเมล์ SMS หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ ได้จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือเวลา 18.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม 2565

 

นายขจิต กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. แล้ว ตนในฐานะผู้อำนวยการกกต.ทถ.กทม. จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครฯ และประกาศรายชื่อผู้สมัครฯ ณ สถานที่เลือกตั้ง ภายใน 7 วัน ภายในวันที่ 11 เมษายนนี้ จากนั้นจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง/ที่เลือกตั้งและ ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลือกตั้งในวันที่ 26 เมษายน 2565 โดยส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านภายในวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งหากมีการเพิ่มชื่อ/ถอนชื่อ ต้องดำเนินการภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากจำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,523,676 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565) แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,817 หน่วย แบ่งเป็นอาคาร 2,909 หน่วย เต็นท์ 3,908 หน่วย

 

“ส่วนผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งเหตุที่อาจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 2 ช่วง คือ ก่อนวันเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2565 และ หลังวันเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565” นายขจิต กล่าว

 

ด้าน นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับหน่วยเลือกตั้ง 50 เขต มีจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,817 หน่วย แบ่งเป็นอาคาร 2,909 หน่วย เต็นท์ 3,908 หน่วย โดยแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง รวม 13 คน แบ่งเป็น กรรมการประจำหน่วย 9 คน ตำรวจ 2 คน อาสาสมัคร 2 คน ส่วนการนับคะแนนจะทำการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง และส่งผลการนับคะแนนมาให้ กกต.ทถ.กทม. รวบรวมรายงานผู้อำนวยการ กกต.ทถ.กทม. เพื่อรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง